ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกนโยบายใหม่ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเอื้อคนไทยลงทุนต่างประเทศง่ายขึ้น

โดย SM1984

ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกนโยบายใหม่ด้านอัตราแลกเปลี่ยนสนับสนุนให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์

** เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ ต่อปี

** ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

** เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

** เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD)

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยภายนอกทั้งผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผันผวนของเงินบาท

ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดเงินประเทศไทยคือเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่สมดุล ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาต่อเนื่อง (ปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2563 ณ เดือนกันยายน เกินดุลอยู่ที่ 16.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหตุเพราะนักลงทุนยังคงเน้นการลงทุนในประเทศไม่มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากนัก

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไม่มีการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจเป็นเพราะการเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงยังไม่สะดวกมากนัก ทำให้อ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน และสาเหตุจากการเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาด 

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ทำความรู้จัก CFD เครื่องมือการลงทุนเริ่มต้นสำหรับการเทรดสินค้าต่างประเทศ

ทั้งนี้เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ธปท. จึงเห็นควรดำเนินมาตรการเพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ดังนี้

1. เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. 

2. ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น

1) เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

2) ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

3) เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 101 ตอบทุกข้อสงสัยสำหรับผู้สนใจลงทุนในกิจการระดับโลก

ทั้งนี้การเปิดเสรี FCD จะส่งผลดีต่อหลายฝ่าย สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและมีต้นทุนลดลง เนื่องจากสามารถเก็บรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศหรือแลกเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ก่อนได้และสามารถแลกกลับเป็นเงินบาทได้ในยามที่ต้องการทันที

ส่วนนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น และประชาชนจะสามารถแลกเงินตราต่างประเทศเก็บไว้เพื่อใช้ในการเดินทางและซื้อสินค้าบริการในต่างประเทศ รวมถึงการโอนระหว่างกันได้

“การเปิดให้นักลงทุนรายย่อยไทยไปลงทุนยังต่างประเทศหรือลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น เป็นการสร้างสมดุลให้กับเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศ ที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่มักลงทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ( Home bias ) ซึ่งทำให้กระจายความเสี่ยงได้ไม่มากนัก การที่สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น จะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยของไทยมีทางเลือกทำให้ช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุนได้”

อย่างไรก็ดีการที่จะทำให้คนไทยมั่นใจออกไปลงทุนต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงได้ต้องทำให้ระบบและตลาดมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวน ทางการจึงต้องเท่าทันข้อมูลต่างๆของตลาดเพื่อให้เท่าทัน ติดตามได้ รู้ตัวตนของผู้ร่วมตลาด โดยเฉพาะในตลาดบอนด์

3. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน

ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ธปท. ผลักดันร่วมกันแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน

ส่วนสาเหตุทำไมต้องตลาดพันธบัตร เพราะตลาดพันธบัตรเป็นตลาดที่มีผู้เล่นหลากหลาย ทั้งกลุ่ม real money ที่ต้องการลงทุนจริงผู้เล่นระยะสั้นและผู้เล่นที่เก็งกำไร ซึ่งการที่มีผู้เล่นหลากหลายนับเป็นผลดีกับตลาด แต่ในบางช่วง ก็อาจมีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินได้ สร้างความผันผวน และส่งผลต่อการทำงานของตลาด ธปท.จึงมองว่านักลงทุนควรต้องมาลงทะเบียน เพื่อให้ทางการได้ทราบว่าผู้เล่นเป็นใครบ้าง

มาตรการนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปิดกั้นการลงทุน ทุกคนยังสามารถเข้ามาลงทุนได้เช่นเดิม เพียงแต่ขอให้มาลงทะเบียนในครั้งแรกก่อนทำการซื้อขายตราสารหนี้ 

ทั้งนี้ ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ดำเนินการเช่นนี้ หลายประเทศที่อยากมั่นใจในเรื่องเสถียรภาพของตลาดก็มีระบบนี้แล้ว เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน เดิมไทยเปิดให้เข้ามาลงทุนได้อย่างเสรีไม่ต้องแจ้งต่อทางการก่อน ทำให้ทางการไม่ทราบตัวตน และเกิดความไม่สมดุลระหว่างการลงทุนระหว่างคนในประเทศและต่างประเทศ ธปท.รู้จักคนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ยังไม่รู้ตัวตนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งควรต้องรู้จักนักลงทุนที่เข้าออกประเทศให้เท่าๆกัน ซึ่งมาตรการนี้จะต้องหารือกับผู้ร่วมตลาดก่อนโดยอาจจะเห็นในต้นปี 2564

Related Posts