ทองคำ

10 เรื่องน่ารู้ของ “ทองคำ” สินทรัพย์การลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยง

โดย SM1984

ทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ได้รับความนิยมของคนทั่วโลก โดยเฉพาะเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน เรามาลองทำความรู้จักกับ 10 เรื่องน่ารู้ของทองคำเพื่อให้รู้จักสินทรัพย์ประเภทนี้กันมากขึ้น

  1. ทองคำ เป็นของที่ทำลายไม่ได้ เมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็ยังอยู่บนโลกต่อไปไม่ได้สูญสลายไปไหน คาดว่ามีทองคำที่ขุดขึ้นมาบนโลกแล้วประมาณ 190,000 ตัน ประกอบด้วย ทองรูปพรรณ 90,000 ตัน (48%) ทองคำแท่งเพื่อการลงทุน 40,000 ตัน (21%) ทองคำที่เป็นทุนสำรองของธนาคารกลาง 33,000 ตัน (17%) และอื่นๆ 27,000 ตัน (14%) ถ้านำทองคำทั้งหมดในโลกมากองรวมกัน จะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ (Cube) ที่มีความกว้าง-ยาว-สูง ด้านละ 21.4 เมตร ทั้งนี้ คาดว่ามีคาดว่ามีทองคำที่อยู่ใต้ดินอีกประมาณ 54,000 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2017, อ้างอิง: www.gold.org )
  1. ในบรรดาทองคำที่เป็นทุนสำรองของธนาคารกลางจำนวนกว่า 33,000 ตัน เกินกว่าครึ่งอยู่ในมือของ 5 ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ในลำดับ 28 มีทองคำในทุนสำรองประมาณ 154 ตัน  (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2020, อ้างอิง: www.gold.org )
  2. อุปสงค์ทองคำในตลาดโลก มีประมาณ 4,000 ตัน/ปี ประกอบด้วย 1. ใช้เป็นเครื่องประดับ (50%) 2. ซื้อทองคำเพื่อการลงทุน ทั้งที่เป็นทองคำแท่ง/เหรียญ และผ่าน ETF (30%) 3. ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น แผงวงจรในโทรศัพท์มือถือ (10%) และ 4. เป็นทุนสำรองของธนาคารกลาง (10%)
  3. อุปทานทองคำในตลาดโลก มีประมาณ 4,000 ตัน/ปี เช่นกัน เป็นทองคำขุดใหม่ 70% ส่วนที่เหลือเป็นทองคำที่มีอยู่ในมือผู้บริโภคถูกนำมาขายสู่ตลาด (recycled)
  4. ประเทศที่ผลิต ทองคำ มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน 2. ออสเตรเลีย 3. รัสเซีย 4. สหรัฐอเมริกา และ 5. แคนาดา
  5. เหมืองที่จัดว่ามีสินแร่ในเกรดดี เวลาระเบิดหินขนาด 1 ตัน จะได้แร่ทองคำประมาณ 8-10 กรัม ส่วนเหมืองที่มีสินแร่เกรดไม่ดี ระเบิดหินขนาดเท่ากัน จะได้แร่ทองคำเพียง 1-4 กรัมเท่านั้น ต้นทุนการขุดทองคำ (เรียกว่า Cash Cost) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 900 – 1,000 US$/oz
  6. เหมืองแบบเปิด (open pits) มักจะมีเกรดต่ำกว่าเหมืองแบบปิดที่ต้องขุดเจาะลงไปใต้ดิน ซึ่งนับวันเราต้องขุดลึกลงไปเรื่อยๆ เหมืองทองคำที่ลึกที่สุดในโลกชื่อ Mponeng อยู่ที่แอฟริกาใต้ มีความลึกกว่า 4 กิโลเมตร เทียบเท่ากับการนำตึก Burj Khalifa มาต่อกัน 5 ตึก แค่การลงลิฟท์จากผิวดินไปทำงานในหลุมก็ใช้เวลามากกว่า 1.5 ชั่วโมง และเนื่องจากหลุมอยู่ลึกมาก อุณหภูมิในชั้นหินจึงสูงกว่า 66 องศา ต้องใช้วิธีปั๊มน้ำแข็งลงไปทำความเย็นให้เหลือแค่ 30 องศา
  1. ราคาทองคำในตลาดโลก นิยมระบุเป็น “US Dollar ต่อ Troy Ounce” หรือ US$/oz โดย 1 Troy Ounce มีน้ำหนัก 31.103 กรัม ในขณะที่ทองคำ 1 บาท มีน้ำหนัก 15.2 กรัม ดังนั้น เวลาเห็นราคาทองคำในตลาดโลก เอามาหาร 2 ก็จะได้ราคาทองคำต่อทอง 1 บาท (แบบคร่าวๆ) ในประเทศไทย ทั้งนี้ ทองคำแท่งที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ใช้มาตรฐาน “London Good Delivery Bar” แต่ละแท่งทำจากทองคำหนัก 400 Troy Ounce
  2. ราคาทองคำเคยทำสถิติสูงสุดที่ $1,895/oz เมื่อเดือนกันยายน 2011 จากนั้นก็ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนไปถึง $1,055/oz ในเดือนธันวาคม 2015 แล้วก็กลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง โดยล่าสุดขึ้นไปแตะ $1584 เมื่อปลายเดือนมกราคม 2020
  3. ราคาทองคำมักผันผวนในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินดอลล่าร์ (เช่น ราคาทองคำจะสูงขึ้นเมื่อค่าเงินดอลล่าร์อ่อน) และมีความสัมพันธ์กับราคาพันธบัตรและหุ้นค่อนข้างน้อย (Correlation = 0.2 – 0.4) ทองคำ จึงเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversification) ได้ดี

บทความโดย : วิน พรหมแพทย์, CFA  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. พรินซิเพิล จำกัด

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : บิทคอยน์ vs หยวนดิจิทัล vs ลิบรา ใครจะเป็นเงินดิจิทัลเบอร์หนึ่งของโลก??

Related Posts