หุ้นประกัน

วิเคราะห์หุ้นประกัน โอกาสเติบโตที่มาหลังวิกฤติโควิด-19

โดย SM1984

หุ้นประกัน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกคาดว่ามีโอกาสที่จะเติบโตได้หลังวิกฤติโควิด-19 จบลง ทำไมหุ้นกลุ่มนี้จึงมีความน่าสนใจในการลงทุน เรามาทำความเข้าใจโครงสร้างธุรกิจและวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตกันดู

สาเหตุที่หุ้นกลุ่มประกันจะเติบโตหลังวิกฤติโควิด-19

สำนักงานคปภ. ได้รายงานตัวเลขการซื้อประกันของคนไทยเติบโตขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประกันภัยโควิด-19 คาดว่าหลังจากจบวิกฤติครั้งนี้คนไทยจะเข้าใจและเห็นความสำคัญของการทำประกันมากขึ้น 

ประกอบกับมีแนวโน้มที่คนไทยจะหันมาใส่ใจกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลมากขึ้น จากการที่เห็นแล้วว่า การขาดรายได้ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดการ Lockdown ภาคธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างไร

เช่นเดียวกับกระแสของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงการวางแผนการเงินก่อนการเกษียนมากขึ้น โดยมีปัจจัยเร่งคืออัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี หากไม่ได้ทำประกันแล้วเจ็บป่วยก็อาจต้องมีภาระด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่การเงินจะหันมาขายโปรดักต์ประกันมากขึ้น อย่างเช่นเอไอเอส ที่ประกาศชัดเจนว่าได้เข้าสู่ธุรกิจนายหน้าขายประกันออนไลน์ รวมถึงยังมีกระแสฟินเทคในสาย Insuretech ที่เริ่มเติบโตขึ้น ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันจึงมีแนวโน้มไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ หุ้นประกัน มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต

ประกันชีวิตกับประกันภัยต่างกันอย่างไร

ทั้งสองธุรกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. (เปรียบเสมือนกลต.ของตลาดทุนและแบงก์ชาติของตลาดเงิน)

ประกันชีวิต (Assurance) พูดง่ายๆคือการขายหลักประกันให้กับ “มนุษย์” เช่น 

ประกันภัย (Insurance) คือการขายหลักประกันให้กับ “วัตถุ” หรือสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันขนส่งทางเรือ ฯลฯ 

แต่อาจจะมีประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนบ้างเช่น ประกันการว่างงาน ประกันการท่องเที่ยวรวมถึงประกันสัตว์เลี้ยง

ทั้งนี้ยังมี “ประกันสุขภาพ” ที่จะเป็นโปรดักต์ที่มีความคาบเกี่ยวกันระหว่างประกันชีวิตและประกันภัย โดยแบบประกันที่ออกมาในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดส่วนใหญ่ออกมาจากบริษัทประกันภัยขายในราคาตั้งแต่ 500-1,000 บาท 

ขณะที่บริษัทประกันชีวิตก็สามารถเสนอขายประกันสุขภาพพ่วงไปกับกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ลูกค้าได้เช่นกัน ตัวประกันสุขภาพนี่เองจะเป็นโปรดักต์ที่มาแรงในยุค New Normal 

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำความรู้จักประกันชีวิตรูปแบบต่างๆ เพื่อลดหย่อนภาษี-ประกันสุขภาพ

หุ้นประกัน

โบรกเกอร์ประกันคืออะไร

บริษัทที่ลงทะเบียนเป็นนายหน้าประกันจะไม่สามารถนำเสนอกรมธรรม์ต่างๆให้ลูกค้าได้เอง เป็นเพียง “ตัวแทนขาย” ให้กับเจ้าอื่นเท่านั้น โดยได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการขายโปรดักต์ ปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดนี้เกือบพันรายโดยมีรายใหญ่คือ TQM ซึ่งล่าสุดได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว

รายได้และกำไรของธุรกิจประกันมาจากอะไร

ผลกำไรของ หุ้นประกัน จะนำเงินของลูกค้าที่ซื้อประกันเอาไปลงทุนต่อโดยเน้นที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ รวมถึงลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5-6% ต่อปี

โอกาสที่บริษัทประกันจะขาดทุนถึงขั้นเจ๊งมีน้อยมาก ถ้าหากไม่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเหมือนกับสมัยซับไพร์มซึ่งตอนนั้นมีบริษัทประกันระดับโลกที่ปิดกิจการไปจำนวนหนึ่ง 

ทั้งนี้บริษัทประกันจะต้องกันเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินกองทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงและมีกฎกว่าจะขายประกันได้ไม่เกินกว่าระดับเงินกองทุนที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่มีผู้ขอเคลมประกันเป็นจำนวนมากพร้อมกันจนเงินไม่พอจ่าย

อย่างไรก็ตามการที่จะออกโปรดักต์ออกมาจะมีตำแหน่งที่เรียกว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยคำนวนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากมีผู้มาขอเคลมประกันจำนวนมากจนบริษัทขาดสภาพคล่องหรือไม่ เช่นในช่วงที่ผ่านมาที่มีผู้ซื้อประกันภัยโควิด-19 จำนวนมากจนบริษัทประกันบางแห่งต้องหยุดขายเพราะวงเงินอาจจะเกินกว่าเงินกองทุนที่มีอยู่

วิเคราะห์ธุรกิจนี้ได้อย่างไร

ต้องพิจารณาที่ตัวเลขเบี้ยประกันใหม่หรือเบี้ยประกันรับปีแรกว่ามีการเติบโตหรือไม่เพราะเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจมีการขยายตัวได้ดีเพียงใด เพราะเบี้ยประกันเก่าคือเงินที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องจ่ายอยู่แล้ว

ขณะที่ปัจจัยภายนอกอย่างภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็อาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อประกัน รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็อาจส่งผลต่อผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนเนื่องจากบริษัทประกันส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

ใครเป็นผู้เล่นในตลาดนี้บ้าง

ตลาดประกันชีวิต ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดคือเอไอเอ ตามาด้วยเมืองไทยประกันชีวิต,ไทยประกันชีวิต,กรุงเทพประกันชีวิตและไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (ล่าสุดได้ขายกิจการให้กับ FWD)

ปัจจุบันมีหุ้นที่ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพียงตัวเดียวคือ กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) 

ส่วนบริษัทประกันภัย ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดคือวิริยะประกันภัย สัดส่วนการตลาด 17% ตามมาด้วย ทิพยประกันภัย 9%,กรุงเทพประกันภัย 7%,เมืองไทยประกันภัย 5%,อาคเนย์ประกันภัย 5% 

ปัจจุบันมีหุ้นกลุ่มดำเนินธุรกิจประกันภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 14 ตัว

ประกันชีวิต

แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกัน

ประกันภัย เป็นธุรกิจที่เติบโตไม่หวือหวามากนักเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ เนื่องจากการทำประกันภัยส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ หากมียอดซื้อรถใหม่สูงขึ้น ตัวเลขการทำประกันก็จะเพิ่มขึ้นตาม 

แต่หากแนวโน้มการทำประกันสุขภาพสูงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ก็อาจเป็นแรงผลักดันใหม่ให้ธุรกิจนี้เติบโตได้มากกว่าในอดีต

ขณะที่คนไทยยังมีสัดส่วนน้อยมากที่เข้าถึงการทำประกันชีวิต โดยสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2561 คนไทยมีการทำประกันชีวิตเพียง 37% ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆอย่าง มาเลเซียที่มีคนทำประกัน 40% ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้ประชากรของเขาทำประกันชีวิต 170%,สิงคโปร์ 267% และญี่ปุ่น 322% หมายความว่าคนๆหนึ่งทำประกันมากกว่าหนึ่งฉบับด้วยซ้ำ

ส่วน SCB EIC เคยออกบทวิจัยว่าครัวเรือนไทยที่มีรายจ่ายทางด้านประกันชีวิตมีเพียง 8.9% ของครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้นซึ่งยังน้อยมาก โดยปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อประกันชีวิตคือสภาพเศรษฐกิจ รายได้และภาระหนี้ครัวเรือน รวมถึงสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนไปเช่น การแต่งงานและมีลูกที่ลดลง

หุ้นประกัน

สมาคมประกันชีวิตไทยประเมินว่าปี 2563 ธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 610,000 ล้านบาท หรือไม่มีการเติบโต แต่นี่คือการประเมินก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 

จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 178,487.45 ล้านบาท เติบโตลดลง 1.07% โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 108,737.99 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 13.65% เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 69,749.45 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 17.68% และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 432,426.66 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 3.25% ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 80%

ปัจจัยที่อาจทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้มาจากปัจจัยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น การอนุมัติโครงการสาธารณูปโภค การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงค้าง การส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตโดยหน่วยงานกำกับ 

ล่าสุดได้มีประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต / บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2563 ออกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยการเปิดกว้างให้บริษัทประกันสามารถลงทุนได้มากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ หุ้นประกัน มีข้อเสียที่สภาพคล่องซื้อขายที่ต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการเติบโตมากนัก จึงเหมาะสมกับการลงทุนในระยะยาว ถ้าหากแนวโน้มคนไทยให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพมากขึ้น หุ้นกลุ่มนี้ก็น่าสนใจในการลงทุน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : A New World โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 1)

Related Posts