หนี้สินทั่วโลก

หนี้สินทั่วโลก ภัยซ่อนเร้นที่ไวรัสโควิด-19 อาจเป็นผู้จุดชนวน

โดย SM1984

หนี้สินทั่วโลก พุ่งแบบติดจรวดเพื่ออัดกระสุนบาซูก้าต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ลูกระเบิดที่หมกไว้ใต้พรมอาจถึงคราวระเบิด หากไม่สามารถประคองหนี้ไว้ได้ The Super Great Depression อาจจะเกิดขึ้นร้ายแรงกว่ายุคปี 1930

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ออกแถลงว่ารัฐบาลทั่วโลกได้อัดฉีดเงินรวมกันกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เพื่อที่จะเยียวยาประชาชนและประคองเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 

ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นนโยบายทางการคลัง 8 ล้านล้านดอลลาร์และนโยบายการเงิน 6 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นการก่อหนี้ที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ธนาคารโลก หรือ World Bank ระบุในรายงานว่ามีการก่อหนี้ทั่วโลกแบ่งเป็น 4 คลื่นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยคลื่นปัจจุบันซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2010 นั้น เป็นระลอกที่มีการกู้ยืมทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุด, เร็วที่สุด และเป็นวงกว้างมากที่สุด จากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง

World Bank ยังระบุว่าในปี 2018 นั้น หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 230% ของจีดีพี ขณะที่หนี้สินทั้งหมดจากประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับเกือบ 170% ของจีดีพีโดยเพิ่มขึ้น 54% นับตั้งแต่ปี 2010

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้ระบุว่ารวมแล้วทุกประเทศในโลกได้ร่วมกันสร้างหนี้ขึ้นมารวมกันกว่า 250.9 ล้านล้านดอลลาร์ (ตัวเลขนี้คือครึ่งปีแรกของปี 2019) โดยสหรัฐฯ และจีนเป็นสองชาติที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด 

หากเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019 หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ระยะเวลาเพียงไม่ถึงสองเดือน (มีนาคม-เมษายน 2020) ทั่วโลกสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาแล้ว 14 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ปี 2020 ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจจริงทั่วโลก ทำให้ หนี้สินทั่วโลก ปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าแบบติดจรวด

เห็นได้จากงบดุลของรัฐบาลสหรัฐฯที่พุ่งสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็วจากนโยบายการทำคิวอีรอบใหม่โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะอัดฉีดแบบ “ไม่จำกัดวงเงิน”

หมายเหตุ: งบดุลของรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากการที่เข้าซื้อพันธบัตรที่ออกโดย FED (เข้าทำนองกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา)

เดือนกันยายน 2019 งบดุลของ FED อยู่ที่ระดับ 3.8  ล้านล้านดอลลาร์ แต่เมษายน 2020 พุ่งขึ้นแตะ 6 ล้านล้านดอลลาร์ เรียกว่าโตเกือบ 100% และยังไม่หยุดที่หนี้จะงอกขึ้นไปเรื่อยๆจากการเติมกระสุนต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

อ่านเพิ่มเติม : IMF เผยทั่วโลกอัดฉีดเงินรับมือโควิด พุ่งเฉียด 14 ล้านล้านดอลลาร์ แบกหนี้เพิ่ม 13%

หนี้สินทั่วโลก

หนี้สาธารณะทั่วโลกมีสิทธิพุ่งจากไวรัสโควิด-19

หนี้สาธารณะ หมายถึงหนี้สินที่เกิดจากภาครัฐเป็นผู้ก่อขึ้น เหมือนกับบริษัทที่กู้เงินมาใช้ขยายธุรกิจหรือหล่อเลี้ยงกิจการ ทั่วไปแล้วจะนำตัวเลขหนี้มาเปรียบเทียบกับจีดีพีของประเทศ (เปรียบเสมือนเทียบหนี้สินกับรายได้) จนได้เป็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพี

ปรากฎว่าประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ล้วนแล้วแต่มีระดับหนี้สาธารณะระดับสูงทั้งสิ้น!!

สหรัฐอเมริกา มีหนี้สาธารณะ 104% อิตาลี 132%,ฝรั่งเศส 98.4%,สเปน 97.1%,สหราชอาณาจักร 86.8% และที่สูงที่สุดคือญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะ 237% !!

ขณะที่ประเทศจีน มีสัดส่วนหนี้สาธารณะประมาณ 50% ของจีดีพี ถือว่ายังมีกระสุนในการอัดฉีดอีกมาก

หากนับสัดส่วน หนี้สินทั่วโลก ของประเทศต่างๆต่อมูลหนี้ทั่วโลก สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนหนี้ 31%,ญี่ปุ่น 17%,จีน 9.8%,อิตาลี 4%,ฝรั่งเศส 3.9%,สหราชอาณาจักร 3.5%

หมายเหตุ: ประเทศไทยตอนนี้มีหนี้สาธารณะประมาณ 41% ของจีดีพี ถือว่าต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 60% และมีสัดส่วน 0.3% ของหนี้ทั่วโลก 

อ่านเพิ่มเติม : จับตา “ตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง” ภัยแฝงจากวิกฤตโควิด-19

ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นชาติอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มากที่สุดในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อ และใช้เงินในการเยียวยาเศรษฐกิจมากที่สุด มีหนี้สาธารณะสูงถึง 113% ของจีดีพี

การที่หนี้สาธารณะสูงกว่าจีดีพี หมายถึงหนี้ที่มีมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ ถ้าหากประเทศเหล่านี้ก่อหนี้เพิ่มเพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจจะทำให้ก้อนหนี้โตขึ้นและหากไม่สามารถสร้างรายได้มาชำระหนี้ได้..การผิดนัดชำระหนี้จะทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกขึ้นอีกครั้งเหมือนในสมัยปี 2008 

แต่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นร้ายแรงกว่ามาก เพราะ 12 ปีที่แล้วเกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่จุดของโลก แต่รอบนี้เป็นกันทั้งโลก!!

หนี้สินทั่วโลก

แก้หนี้ด้วยการพิมพ์เงินมาจ่ายหนี้

บางคนอาจสงสัยว่าทำไม ประเทศใหญ่ๆเหล่านั้นถึงสามารถประคองหนี้ตัวเองไว้ได้ ทั้งที่หนี้มากกว่ารายได้ ก็เพราะธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น สามารถพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบได้อย่างไม่จำกัด เพียงแค่พิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรของตัวเองก็ถือว่าได้ชำระหนี้แล้ว

แต่การทำเช่นนั้นจะมีผลทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นด้อยค่าลง เพราะมีซัพพลายในตลาดมากกว่าดีมานด์ ที่สำคัญหนี้ที่สร้างขึ้นจะไม่สามารถแก้ไขได้ 

ฟองสบู่หนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มยังไม่หายไป ฟองสบู่ก้อนใหม่ก็มาอีกแล้ว และคราวนี้เปราะบางกว่าเดิม

หนี้สินทั่วโลกจึงเป็นระเบิดเวลาที่มีความอ่อนไหวสูง หากไม่สามารถประคองหนี้ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะจบลง โลกของเราอาจจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งใหญ่ชนิดประเมินความเสียหายกันไม่ถูก..

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : New Normal ในโลกการเงินที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19

Related Posts