เฮดจ์ฟันด์

เฮดจ์ฟันด์ คืออะไร? มีกลไกทำงานอย่างไร

โดย SM1984

นักลงทุนบ้านเราส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘กองทุนรวม  หรือ Mutual Fund’ กันมาบ้างแล้ว ซึ่งกองทุนรวมโดยทั่วไป มักจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หุ้นสามัญ กองทุนรวมผสม แต่ในประเทศไทยคงมีน้อยคน เกี่ยวกับ เฮดจ์ฟันด์ หรือ กองทุนป้องความเสี่ยง หลายๆคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่า มันคือกองทุนอะไร ทำงานอย่างไร ลงทุนอะไรกันแน่

วันนี้ เราจะพามาทำความรู้จักกับ เฮดจ์ฟันด์  (Hedge Fund) กันว่าเป็นอย่างไร?

คำว่า ‘Hedge’ แปลว่า การป้องกันความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อนำมารวมกัน  ‘Hedge Fund’ จึงหมายถึง ‘กองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยง’ หรือเป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการป้องกันความเสี่ยงควบคู่ไปกับการลงทุนด้วยนั่นเอง

กองทุนเฮดจ์ฟันด์ นั้นมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินที่หลากหลาย และยังรวมไปถึงตราสารอนุพันธ์ โดยแต่ละกองทุนก็จะมีเทคนิคและกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นก็คือ เพื่อสร้างผลกำไรในทุกสภาวะตลาด โดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่กำหนดในแต่ละกองทุน การลงทุนใน Hedge Fund จึงถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มมากขึ้น และช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กองทุนเฮดจ์ฟันด์ มีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย และเปิดกว้างมากกว่ากองทุนรวมโดยทั่วไป และสามารถลงทุนในลักษณะกระจุกตัวได้ในระดับสูง กองทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่เปิดเผยข้อมูลการลงทุน หรือสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ แก่คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนในกองทุนนั้น เนื่องจากอาจทำให้เสียความสามารถทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ตามมาได้

ในแต่ละประเทศก็จะมีข้อกำหนด และกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน กองทุนประเภทนี้จะมีข้อกำหนดหรือข้อจำกัดในการลงทุนน้อยกว่ากองทุนรวมทั่วไป (Mutual Fund) และจะไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดอันเข้มงวดต่างๆ หลายประการที่ทางกองทุนรวมต้องปฏิบัติ เช่น กฎเกี่ยวกับการปกป้องผู้ถือหน่วย การดำรงสภาพคล่อง การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน เป็นต้น

ผู้ที่จะสามารถลงทุนในกองทุนเหล่านี้ ถูกกำหนดให้มีวงเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ในระดับสูง เช่น ในอเมริกา นักลงทุนที่สามารถลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้นั้น ต้องมีมูลค่าสินทรัพย์รวมสุทธิ มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีผู้เกี่ยวข้องในการลงทุนมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ใช่ว่าเรามีเงินแล้วจะสามารถลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ได้เสมอไป เนื่องจากกองทุนระดับต้นๆของวงการ และมีผลงานดีๆ แทบจะไม่รับนักลงทุนใหม่เลย เพราะว่าทางกองทุนได้รับความสนใจมาก (Oversubscribed) และผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ขนาดของกองทุนใหญ่เกิน Strategy Capacity เพราะอาจส่งผลให้ผลการลงทุนไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วนใหญ่ ผู้ที่จะลงทุนนั้นต้องมี Connection หรือลงทุนในกองทุนก่อนหน้านี้มาแล้ว นอกจากนี้ผู้บริหารกองทุน Hedge Fund ยังสามารถร่วมลงทุนได้ในอัตราส่วนที่สูงได้อีกด้วย และการแบ่งปันผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนนั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากันหมด

สำหรับผลตอบแทนของผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ขึ้นอยู่กับ Performance หรือผลการลงทุน (Performance-based fees) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์มักจะลงทุนในกองทุนของตัวเองด้วย เพื่อให้นักลงทุนเห็นว่า แรงจูงใจของผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  และทำให้ผู้จัดการกองทุนไม่เสี่ยงมากเกินไปอีกกด้วย

ค่าธรรมเนียมที่ผู้จัดการกองทุนจะได้รับมักเรียกว่า 2/20 (Two Twenty) คือค่าบริหารกองทุน (Management Fee) ที่ 2% ต่อปีของเงินลงทุน  และ 20% ของกำไรทั้งหมดที่เกินจาก Hurdle Rate (ส่วนมากอยู่ที่ 7-10%) หรือที่เรียกกันว่า Incentive Fee นั่นเอง

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ลงทุนต่างประเทศ โอกาสที่มากกว่าจำกัดตัวเองแค่หุ้นไทย

Related Posts