WealthTech

จับกระแส WealthTech ทั่วโลก โอกาสของธุรกิจและการลงทุนเมื่อคลื่น Digital Disruption ยังโหมกระหน่ำ

โดย SM1984

บริการเดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “The Future of Digital Disruption and Investment” อัพเดทมุมมองและกระแส Digital Disruption ที่ถาโถมบวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงสั่นคลอนทั้งโลก เกิดทั้งวิกฤติ โอกาส และความท้าทายในทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจ การเงินและการลงทุน โดยเฉพาะ WealthTech รูปแบบดิจิทัลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด  

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มกสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้เล่าถึง ภาพรวมปัจจุบันที่เกิดจาก Digital Disruption พร้อมระบุถึงอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับประโยชน์จากเทรนด์ดังกล่าว ดังนี้ 

From Disruption Domino to Continuous Disruption 

ธุรกิจที่ต้องเร่งเปลี่ยนโครงสร้างอย่างมากหลังโควิด-19 คือ ธุรกิจการศึกษา ที่ปัจจุบันการเรียนออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นมาตรฐานของการเรียนรู้ปกติไปแล้ว อีกธุรกิจที่ได้ประโยชน์คือ ธุรกิจด้านสุขภาพที่กลายเป็นกระแสตื่นตัวทั่วโลก เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างทุกอุตสาหกรรม และในอีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่สามารถจินตนาการได้ จะเกิดเทรนด์น่าสนใจหลายอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2040 

Online Buying is the New Normal 

จำนวนคนซื้อของออนไลน์ในไทยพุ่งขึ้นถึง 58% ซึ่งเกือบจะเป็นอัตราส่วนที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่สิงคโปร์เติบโตขึ้น 47% และอินโดนีเซีย 15% นอกจากนี้พฤติกรรมของคนในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “At-Home Economy” ใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน บ้านกลายเป็นทั้งที่พักผ่อนและใช้ชีวิตทั้งการทำงาน การเรียน ออกกำลังกาย ทำให้เกิดบริการรูปแบบส่งตรงถึงบ้าน (Direct to Customer)  

AI ปฏิวัติเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบที่ไม่สามารถจินตนาการได้ 

3 เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างคาดไม่ถึง ได้แก่ AI, Blockchain และ Quantum หลายบริษัททั่วโลกเริ่มนำAI เข้ามาใช้ งานที่ต้องทำซ้ำๆ จะถูกเปลี่ยนให้ซอฟต์แวร์ทำแทนทั้งหมด และจะค่อยๆ เพิ่มรูปแบบเป็น Intelligent Process Automation (IPA) ซึ่งเป็นงานที่ใช้ AI ตัดสินใจ ไปจนถึงเป็น Natural Language Generation (NLG) ซึ่งไม่ใช่แค่ AI จะสามารถเข้าใจภาษาพูดหรือเขียนเท่านั้น แต่ AI ในระดับนี้จะสามารถสร้างงาน (Generate) ได้เองด้วย

ปัจจุบันจะเห็นว่ามี AI Influencer ซึ่งกำลังได้รับความน่าสนใจ และกำลังได้รับการพัฒนาให้เป็น True Artificial Intelligence(TAI) ที่สามารถคิด ฟัง วิเคราะห์รูปแบบต่างๆ AI จะเริ่มเข้าใจความหมายของข้อมูลซึ่งมีอยู่มหาศาลแล้วใช้ตอบโต้กับมนุษย์  

อุตสาหกรรมมาแรงที่ได้ประโยชน์จากกระแส Digital Disruption  

อุตสาหกรรมอาหาร 

ตลาดอาหาร Plant-based ซึ่งเป็นอาหารที่ทำมาจากพืช ผัก ผลไม้ เห็ดต่างๆ รวมไปถึงธัญพืช และถั่ว กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และจะมีมูลค่าสูงถึง 143 พันล้านเหรียญภายในปี 2027 โดยเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารที่น่าสนใจจะมีตั้งแต่ โภชนาการส่วนบุคคล โปรตีนทางเลือกจากพืช อาหารสังเคราะห์ และระบบฟาร์มอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ  

อุตสาหกรรมยานยนต์ 

บริษัทเทคโนโลยีเริ่มเข้ามาครอบครองตลาดยานพาหนะ เห็นได้ชัดจากมูลค่าของบริษัท Tesla ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเติบโตถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 และมียอดการผลิตถึง 60 ล้านคันในปี 2041 อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ยานพาหนะไร้คนขับที่กำลังได้รับการพัฒนาให้สามารถรองรับความต้องการของธุรกิจขนส่งสินค้า บริการเกี่ยวกับสุขภาพ รักษาพยาบาล และจะได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่เทรนด์ In-car Economy ที่ทำให้คนเราสามารถทำงาน ใช้ชีวิต ทำธุรกิจอยู่บนรถได้อย่างสะดวกสบาย 

ธุรกิจสุขภาพ 

เทคโนโลยีชีวโมเลกุล พัฒนาไปได้รวดเร็วขึ้นมาก ยกตัวอย่าง บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติอเมริกา “Moderna” ใช้เวลาแค่ 42วันในการทำต้นแบบวัคซีนโควิด ซึ่งในอนาคตจะเร็วขึ้นกว่านี้และอาจจะเกิดวัคซีนที่สามารถต้านทานหรือป้องกันโรคมะเร็งขึ้นได้ และการให้บริการดูแลรักษาในรูปแบบ Virtual Healthcare จะเติบโตมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีหลายอย่างบูรณาการเข้าด้วยกัน ช่วยเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาได้หลากหลายมิติ 

ธุรกิจการเงิน 

ธุรกิจธนาคารสามารถปรับตัวได้เร็วแปลงตัวเองจากสถาบันการเงินเดิมๆ เป็นดิจิทัลแบงกิ้ง และพัฒนาเป็นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อกลับเข้าไปลงทุนในฟินเทคสตาร์ทอัพที่เหมาะสม จากนั้นนำโปรดักส์หรือเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับสินค้าและบริการของธนาคาร จนกลายเป็น Decentralized Finance (DeFi)  คือแนวคิดทางการเงินแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทนตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน 

ยุคต่อไปจะเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างธนาคารที่ปรับตัวได้เร็ว  ฟินเทคหรือสตาร์ทอัพที่มีโมเดลชัดเจน และผู้ลงทุนในตลาด DeFi & Blockhain ซึ่งต่อไป DeFi & Blockhain จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากและจะสามารถสร้างโปรดักส์การเงินใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง 

นายเรืองโรจน์ กล่าวในตอนท้ายว่า “ช่วงเวลานี้คือยุคทองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Golden Age of Southeast Asia) โดยปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าถึง 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 และคาดการณ์ว่าอีก 8 ปีข้างหน้า จะมีบริษัทที่เป็นยูนิคอร์นเกิดขึ้นมากกว่า 20 – 40 บริษัท 

โดยอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่เติบโตเร็วและน่าจับตามองที่สุด สิ่งสำคัญในยุควิกฤติแห่งศตวรรษคือ การรู้เท่าทันเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมคว้าโอกาสใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นให้ดี เพราะในทุกวิกฤติมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ”  

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน WealthTech ชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้กล่าวถึงเทรนด์ของ WealthTech จะเป็นการผสมผสานระหว่างตราสารรูปแบบเดิมกับรูปแบบใหม่ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลหลายแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบเทรดอัตโนมัติ หรือ Robot Trading มาใช้ในการลงทุน ทำให้มีการโยกย้ายจากตราสารทุนไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัล เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการ ฟินเทค สตาร์ทอัพ โดยคาดว่าจะได้จะเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มซูเปอร์แอป (Super App) เข้ามาทั้งในรูปแบบความร่วมมือและแข่งขันไปพร้อมๆ กัน  

ด้าน กานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และBitcoin Addict Thailand ได้มาเจาะลึกภาพของ Decentralized Finance (DeFi) ให้ชัดเจนขึ้น โดย DeFi คือการจำลองระบบการเงินที่คุ้นเคยอย่างการฝากเงิน การใช้บริการโรงรับจำนำ การทำประกัน มาอยู่ในโลกออนไลน์แล้วใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลหรือ Blockchain ซึ่งผู้ใช้งานทุกคนสามารถไปทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่ต้องยืนยันตัวตน  สามารถเชื่อมต่อโดยใช้แค่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

รูปแบบหรือบริการที่นิยมกัน เช่น peer-to-peer Lending คือ ฝากสินทรัพย์แล้วได้ดอกเบี้ย จากการที่แพลตฟอร์มเอาสินทรัพย์ไปปล่อยกู้ต่อ คล้ายกับระบบของธนาคาร หรือรูปแบบ Decentralized Exchange คือการบริหารแลกเปลี่ยนเงินคริปโต ทั้งหมดถูกบริหารจัดการด้วย Smart Contract ด้วย Blockchain ข้อดีคือเปิดให้ทั้งโลกได้มีโอกาสเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องได้และจะได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมปันผลจากระบบต่างๆ จึงดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน  

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวถึง ตลาดของสกุลเงินCryptocurrency ในปัจจุบัน มีมูลค่า 2.3-2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  เป็นตลาดที่โตเร็วอย่างมาก และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างสนใจมาลงทุน เช่น Tesla, Square, J.P. Morgan, Goldman Sachs หรือคนดังอย่าง George Soros  

“ปัจจุบัน เราสามารถกู้เงิน ระดมทุนผ่านคอมพิวเตอร์โปรแกรมที่เรียกว่า Smart Contact โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ protocol ได้ และสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มเข้าใจพร้อมให้ความเชื่อถือมากขึ้น แบงก์ชาติกำลังจะออกดิจิทัลบาทในปีหน้า จีนมีการออกดิจิทัลหยวนแล้ว สหรัฐอเมริกาอยู่ในระหว่างคุยเรื่องออกดิจิทัลดอลลาร์ นอกจากนี้บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเริ่มมีการนำกำไรมาลงทุนใน Bitcoin เพื่อกระจายความเสี่ยง หลายประเทศเริ่มมีการประกาศให้Bitcoin สามารถชำระเงินได้ตามกฎหมาย 

ในส่วนการเลือกแพลตฟอร์ม Cryptocurrency สำหรับการลงทุน เราไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวไหนจะเป็นตัวที่ทำเงินแน่ๆ เพราะมันเป็นเน็ตเวิร์กระบบเปิด ทำให้เกิดการโยกย้ายได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลาไม่สามารถบังคับได้ สุดท้ายตลาดจะเป็นคนเลือก แต่จะมีปัจจัยสำคัญคือมูลค่า อย่าง Bitcoin ก็เป็นตัวที่มีเน็ตเวิร์กที่ใหญ่มาก ในห้าปีข้างหน้าวงการการเงินการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สิ่งที่เรารู้คือ Cryptocurrency, DeFi มาแน่นอน ดังนั้นCryptocurrency จะเป็นโลกที่น่าตื่นเต้นและควรศึกษา” 

บทความที่เกี่ยวข้อง : Private Equity หนึ่งในการลงทุนที่น่าจับตาแห่งยุคสินทรัพย์ทางเลือกที่ช่วยเพิ่มเติมผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุน

** คอร์สออนไลน์  “มือใหม่เริ่มลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” นอกจากเรียนทฤษฎีทางออนไลน์แล้วยังได้เรียนสดทาง Zoom กับผู้สอนทุกสัปดาห์อีกด้วย รายละเอียดคลิ๊กที่นี้

Related Posts