E-commerce ไทย

ตีแผ่สมรภูมิ E-Commerce ไทย ตรงไหนคือโอกาส

โดย SM1984

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรประเมินว่าตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-commerce ไทย หลังโควิด-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2025 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม ซึ่งเฉพาะในปี 2020 ที่ผ่านมา E-commerce ไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 80% สะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จากข้อจำกัดด้านการเดินทางจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดอาหารและสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการจองโรงแรมและการเดินทางหดตัวอย่างรุนแรง 

ปัจจุบันตลาด E-commerce ไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย แต่ในแง่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนระยะเริ่มต้นของการเติบโต ในระยะต่อไป ตลาด E-commerce ไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ (1) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เฉลี่ยราว 80% ของประชากร (2) การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยกลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนบัญชี Facebook ต่อประชากรสูงที่สุดในโลกและเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ และ (3) บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking) และการชำระเงินผ่านมือถือ (mobile payments) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก โดยมีบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ 

บทความที่เกี่ยวข้อง : Lending Protocol เมื่อใครก็สามารถเป็นธนาคารได้

รูปแบบค้าปลีกออนไลน์ในไทยเปลี่ยนไปเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ E-marketplace มากขึ้น คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาด E-commerceรวมของไทย โดยเป็นการแข่งขันระหว่างสองแพลตฟอร์มข้ามชาติหลัก ได้แก่ Shopee และ Lazada ทิ้งห่างแพลตฟอร์มรายอื่น แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและเป็นฐานต่อยอดไปสู่โอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

ส่งผลให้โดยรวมแล้วแม้รายได้ของธุรกิจแพลตฟอร์มจะขยายตัวขึ้นอย่างมาก แต่ยังคงมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการร่วมอุดหนุนการขาย KKP Research ประเมินว่า ท้ายที่สุดจะเหลือธุรกิจแพลตฟอร์มที่สามารถทำกำไรได้เพียงไม่กี่ราย และอาจมีผู้ชนะเพียงรายเดียว เช่นเดียวกับตลาด E-commerce ในจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีกลุ่ม Alibaba และ Amazon เป็นเจ้าตลาดทิ้งห่างคู่แข่งที่เหลือ 

ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านสามารถปรับกลยุทธ์ไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และขยายโอกาสการเติบโตในคราวเดียวกัน ในภาวะที่สูตรสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนจากการมีทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผู้บริโภค (localization) ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย (trust) และประสบการณ์หน้าร้าน(human touch) และถูกแทนที่ด้วย (1) การส่งสินค้าถึงบ้าน (home delivery) (2) คะแนนรีวิวและยอดขาย (online reputation) และ (3) การสอบถามและบริการผ่านการสนทนาออนไลน์ (online support) บน E-commerce

 ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีหน้าร้านควรเริ่มสร้างรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint)บนช่องทางและแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อเพิ่มการมองเห็น (visibility) และเพื่อกระจายความเสี่ยงหากบางแพลตฟอร์มต้องปิดตัวลง  

ขณะที่ KKP Research มองว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่นห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าประเภทที่มีผู้ให้คำแนะนำ (Specialist Shops) มีข้อได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ขายเป็นทุนเดิมและมีบริการหลังการขายที่ดี สามารถนำช่องทางออนไลน์มาหลอมรวมกับหน้าร้านเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค(omnichannel experience) หรืออาจสร้างช่องทางออนไลน์แยกจากช่องทางหน้าร้าน (multichannel) และเน้นการส่งสินค้าอย่างรวดเร็วถึงบ้าน

เช่น การส่งสินค้าถึงบ้านใน 3 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ ทั้งนี้ แม้ฐานลูกค้า E-commerce ของธุรกิจค้าปลีกเดิมจะมีไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ แต่จำนวนผู้เข้าใช้บริการสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหน้าร้านยังคงมีข้อเสียเปรียบในด้านโครงสร้างต้นทุน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงาน จึงจำเป็นต้องปิดจุดอ่อนผ่านการบริหารต้นทุนของช่องทางหน้าร้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาอัตรากำไรในระยะต่อไป 

การขยายตัวธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) บรรจุภัณฑ์ (Packaging)และขนส่ง (Logistics) รวมถึงโฆษณาออนไลน์ ขณะที่มีบางธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เช่นธุรกิจค้าปลีกที่อาศัยหน้าร้าน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการขายหรือให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ถูกแย่งส่วนแบ่งจากบริการส่งอาหาร (Food Delivery) อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การปรับตัวไปสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจที่จะอยู่รอดต่อไป และเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ของธุรกิจได้ 

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เพื่อยกระดับผลิตภาพในภาคบริการ สร้างงานในภาคธุรกิจใหม่ และสร้างการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมแก่ธุรกิจรายย่อย ผ่านการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานและลดขั้นตอนและกฎระเบียบใน 3 ด้าน ได้แก่ 

(1) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโลจิสติกส์ในประเทศ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการจัดตั้งคลังสินค้าสมัยใหม่แบบครบวงจร (Fulfillment center)  (2) สนับสนุนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บภาษีบนธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมค้าปลีกออนไลน์ในอนาคต และ (3) ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบระหว่างแดน เพื่อให้ธุรกิจ E-commerce ของไทยสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 470 ล้านคนในอาเซียนได้ 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี้ https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/e-commerce-situation-in-thailand

Related Posts