Lending Protocol คือ

Lending Protocol เมื่อใครก็สามารถเป็นธนาคารได้

โดย SM1984

Lending Protocol คือ แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นธนาคารที่มีทั้งผู้ฝากและผู้กู้แต่แตกต่างกันตรงที่เป็นระบบการเงินที่ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีเจ้าหน้าที่พนักงานมาอนุมัติเงินกู้ให้กับเราแต่ใช้ Smart Contract ในการจัดการทั้งหมด 

อธิบายให้เห็นภาพก็คือระบบธนาคารแบบดั้งเดิม ธนาคารจะเปิดรับเงินฝากจากประชาชนจากนั้นก็จะนำเงินฝากนั้นไปปล่อยกู้ในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ โดยผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคาร จากนั้นธนาคารจะแบ่งดอกเบี้ยบางส่วนที่ได้มากลับคืนให้กับผู้ที่นำเงินมากฝาก

ตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อปี ธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยกับผู้ฝากเงินในรูปแบบออมทรัพย์ 0.25% ต่อปีหรือถ้าเป็นเงินฝากประจำก็อาจจะอยู่แถวๆ 0.75% 

บทความที่เกี่ยวข้อง : กระบวนการสร้าง Stablecoins ในโลกของ DeFi

คำถามคือทำไมส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ถึงแตกต่างกันมากขนาดนี้?? เป็นเพราะธนาคารมีต้นทุนในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ระบบไอที ตั้งสาขา ฯลฯ รวมถึงต้องกันเงินฝากบางส่วนไว้สำหรับกรณีที่ผู้กู้ไม่มาจ่ายหนี้จนทำให้เกิดหนี้เสีย สถาบันการเงินจะล้มละลายทันทีที่หนี้เสียมีมากกว่าจำนวนเงินฝาก

การที่สถาบันการเงินมีต้นทุนในการดำเนินงานหลายส่วนทำให้ภาระตกกลับมาอยู่กับลูกค้าที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆทั้งโดยตรงและโดยอ้อมและธนาคารจะเลือกจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่ถูกกว่าเงินกู้หลายเท่าเพื่อให้มีผลประกอบการที่กำไรและให้มั่นใจว่าสถานะการเงินยังเดินหน้าได้

นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์การเงินที่ผ่านมาเราได้เห็นการล้มละลายของสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในวิกฤติการเงินซับไพร์มปี 2009 จากการที่นำเงินฝากของประชาชนไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจนขาดทุน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ผู้ฝากเงินไม่ควรที่จะต้องแบกรับ

Smart Contract ทำหน้าที่แทนนายธนาคาร

เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นช่องโหว่ของสถาบันการเงินดั้งเดิม ในโลกของ DeFi จึงทำให้เกิดแนวคิดของ Lending Prrotocol คือ แทนที่จะต้องจ้างพนักงานมาบริหารธนาคารก็ใช้ Smart Contract เป็นผู้บริหารจัดการเอง แค่เพียงเราเขียนโค้ดคำสั่งให้ทำงานตามนโยบายที่ Protocol นั้นกำหนดไว้ เช่นการคำนวนอัตราดอกเบี้ย การยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันเมื่อกำลังจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ 

ส่วนของเงินทุนที่จะนำมาใช้ปล่อยกู้ก็จะเกิดจากผู้ที่มีสกุลเงินดิจิทัลอยู่กับตัวอย่างเช่น Ethereum,BNB,USDT ฯลฯ และต้องการได้ผลตอบแทนก็นำสกุลเงินดิจิทัลที่ Lending Protocol นั้นรองรับมาฝากไว้ในแพลตฟอร์มจากนั้นทาง Lending Protocol จะนำไปใช้ปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการสกุลเงินดิจิทัลต่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำความรู้จัก Governance Token และกลไกการทำงาน

ทั้งนี้สกุลเงินดิจิทัลที่ผู้ฝากนำมาฝากไว้จะยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าของเงินทั้งหมดจากการที่นำ Wallet ของตัวเองไปเชื่อมต่อกับ Lending Protocol ต่างจากการฝากเงินในธนาคารที่เงินในกระเป๋าของเราต้องเปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้ธนาคารทั้งหมด แม้ว่าเราจะมีสิทธิถอนเงินออกจากบัญชี แต่เงินฝากของเราก็ถูกนำไปรวมกับของคนอื่นซึ่งธนาคารอาจจะนำไปลงทุนหรือทำอะไรก็ตามที่มีความเสี่ยงก็เป็นได้

แล้วถ้าผู้กู้ตั้งใจจะเบี้ยวหนี้ล่ะ?

ส่วนของผู้ขอกู้นั้น เนื่องจาก Lending Protocol ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลประวัติการเป็นหนี้ตลอดจน DeFi เป็นระบบเปิดจึงไม่สามารถที่จะไปติดตามหนี้ของผู้กู้ได้จึงทำให้เกิดกลไกของการที่ผู้กู้จะต้องวางเงินสกุลดิจิทัลค้ำประกันเอาไว้และจะได้รับเงินกู้ไป 100% ของเงินค้ำประกัน

ตัวอย่างเช่นหากต้องการจะกู้จำนวน 100 ETH ก็จะต้องวางเงิน 100 ETH ไว้ใน Lending Protocol จากนั้นก็จะได้ 100 ETH เป็นเงินกู้ออกมาและเมื่อคืนเงินกู้ก็จะได้เงินค้ำประกัน 100 ETH ที่ไปวางค้ำประกันไว้กลับคืนมา 

หากมูลค่าของ ETH ที่นำไปวางไว้ลดลงหรือไม่เกิดการชำระหนี้ Smart Contract จะทำการยึดเงินค้ำประกันนั้นมาไว้ทันทีเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง วิธีนี้จึงทำให้แพลตฟอร์มสามารถดำเนินการปล่อยกู้ต่อไปได้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเงินที่ผู้ให้กู้นำมาฝากไว้โดยไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานมาคอยดูแลแต่อย่างไร

ผลตอบแทนที่ได้เป็นรายวินาที

สำหรับผลตอบแทนสำหรับผู้ให้กู้นั้นจะได้รับเป็นรายวินาทีเลยทีเดียวแต่เวลาที่แสดงผลตอบแทนจะแสดงเป็น APY หรือผลตอบแทนแบบทบต้นรายปี เนื่องจากดอกเบี้ยที่คิดกับผู้ขอกู้จะนำมาทบต้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยทั้งฝั่งผู้กู้และผู้ให้กู้จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับความต้องการตลาด เหรียญไหนคนอยากกู้มาก แต่คนให้กู้มีน้อยก็จะแพง เหรียญไหนคนให้กู้เยอะ แต่คนกู้ไม่มีก็จะถูก โดยเราสามารถถอนอออกและฝากเข้าได้ตลอดเวลาไม่มีชั่วโมงปิดทำการ

ด้วยกระบวนการจัดการที่ใช้ Smart Contract ควบคุมดูแลทั้งหมด ไม่มีต้นทุนที่สูงเท่ากับธนาคารและต้นทุนของแหล่งเงินทุนที่แทบจะไม่มี ทำให้ Lending Protocol สามารถจ่ายผลตอบแทนได้สูงกว่าอัตราเงินฝากธนาคารทั่วไป 

กล่าวได้ว่า Lending Protocol คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามา Disrupt สถาบันการเงินรูปแบบดั้งเดิมได้มากที่สุด หากการใช้งานเข้าสู่ Mass Adoption ต้องติดตามต่อไปว่า DeFi จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการธนาคารได้มากน้อยเพียงใด

Lending Protocol ที่น่าสนใจ

Compound

Compound ถือเป็น Lending Protocol รายแรกๆที่เกิดขึ้นโดยทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum โดยรองรับ Stablecoin ที่จะสามารถนำมาวางเป็นหลักประกันในการกู้หรือนำมาปล่อยกู้ได้แก่ ETH, USDC, Dai, Augur, USDT, WBTC, 0x และ BAT โดย Compound Protocol ทำหน้าที่เป็น Liquidity Pool หรือตัวกลางที่ทำหน้าที่จัดการสภาพคล่องระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยกู้

โทเคน COMP จะทำหน้าที่เป็น Governance Token สร้างโดยเทคโนโลยี ERC-20 ภายในแพลตฟอร์ม Compound Protocol กล่าวคือผู้ที่ถือโทเคนจะสามารถโหวตข้อเสนอต่างๆภายในแพลตฟอร์มได้ตามจำนวนโทเคนที่ถือ 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เสนอ Proposal ภายในแพลตฟอร์มได้ หากมีโทเคนในมือตั้งแต่ 1% ขึ้นไปหรือต้องถือจำนวน 100,000 โทเคน โดยสามารถยื่นข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เพิ่มหรือเปลี่ยนเหรียญที่ใช้ค้ำประกัน หรือแม้แต่การเปลี่ยนแอดมินคนใหม่

Aave

Aave เป็น Lending Protocol ที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆเช่นเดียวกับ Compound มีจุดแข็งคือการทำงานร่วมกับนักลงทุนสถาบันและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่องและยังมีใบอนุญาตทางด้านการเงินโดย FCA ของสหราชอาณาจักร จะมีโทเคน AAVE เป็น Governance Token ซึ่งทำงานบนเชนของ Ethereum

Venus Protocol

Venus เป็น Lending Protocol  ที่ทำงานอยู่บนเชนของ Binance Smart Chain โดยเกิดขึ้นในช่วงที่ค่า Gas ของเชน Ethereum มีราคาที่สูง มีจุดแข็งคือโปรดักต์ที่หลากหลายนอกเหนือจากการกู้ยืมสกุลเงินดิจิทัลแล้วยังมีบริการ Staking และ Yield Farming โดยมีโทเคน XVS ทำหน้าที่เป็น Governance Token

** คอร์สออนไลน์  “มือใหม่เริ่มลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” นอกจากเรียนทฤษฎีทางออนไลน์แล้วยังได้เรียนสดทาง Zoom กับผู้สอนทุกสัปดาห์อีกด้วย รายละเอียดคลิ๊กที่นี้

Related Posts