McKinsey

McKinsey แนะอุตฯท่องเที่ยวไทยปรับตัวหลังโควิด-19 สร้างผลกระทบวงกว้าง Disrupt ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้า

โดย SM1984

นายณัฐวุฒิ กุลนิเทศ ประธานบริหาร ADGES เปิดเผยว่า McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากบริษัทชั้นนำ 5,000 บริษัทด้านมูลค่าตลาด (Market Capitalization) พบว่าภายหลังจากการเกิดวิกฤติโควิด-19 มูลค่ารวมของบริษัทมีการลดลงในทุกๆกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงเป็นอันดับต้นๆ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่ง Market Capitalization ลดลงไปกว่า 35%

อย่างไรก็ตามก็ยังมีธุรกิจซึ่งไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เช่น ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเวชภัณฑ์เรื่องของการค้าปลีกหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเมดิคอลเทคโนโลยี และยังพบว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีการจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นนั้นปริมาณที่ไม่ได้ลดน้อยลงไป

เมื่อมองเฉพาะในประเทศไทย เมื่อพิจารณาในด้านราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการท่องเที่ยวโดยตรง แบ่งช่วงเวลาเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเริ่มได้ข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราวต้นเดือน ม.ค. 63 ช่วงเวลา 2 เป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทยแล้ว คือ นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.-กลางเดือน มี.ค.และช่วงที่ 3 เป็นช่วงเวลาหลังจากกลางเดือน มี.ค. คือ ประเทศไทยได้เริ่มมาตรการล็อกดาวน์แล้ว

ช่วงแรกราคาหุ้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม และธุรกิจสายการบินมีการปรับตัวเล็กน้อย จากนั้นเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมากกว่า 50% และจนถึงระยะที่ 3 เริ่มเห็นการปรับตัวของราคาหุ้นสูงขึ้น เนื่องจากมีมาตรการของภาครัฐออกมากระตุ้นทำให้สถานการณ์โดยรวมดูเหมือนว่าจะกลับคืนมาดีขึ้น

อย่าไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อดูจากจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาที่ประเทศไทยปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวตามฤดูกาล โดยเฉพาะอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่พักปรับตัวลดลง ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยในปีนี้จะมีจำนวน 60 ล้านคน แต่การประเมินรอบใหม่มองว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือแค่ 16 ล้านคน

ทั้งนี้ สอดคล้องกับการประเมินของผู้ประกอบการ เพราะโรงแรมกว่า 3 พันแห่งคาดว่าในเดือน เม.ย. 63 จะไม่มีรายรับเข้ามาเลย และมีจำนวนพนักงานในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมกว่า 1.6 ล้านคน ได้รับผลกระทบ โดยโรงแรมในกรุงเทพฯปิดตัวตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.63 จำนวน 27 แห่ง และที่ภูเก็ตมีโรงแรมกว่า 87% ต้องปิดให้บริการ จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ทาง McKinsey ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยปีนี้จะลดลง 60% เหลือราว 19 ล้านคน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกันระหว่างวิกฤติ ต้มยำกุ้ง-โควิด19

ตัวอย่างที่ภาคอุตสาหกรรมโรงแรมจำเป็นต้องปรับตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เช่น โรงแรมเซ็นทารา (CENTEL) มีการประกาศปิดโรงแรมจำนวน 28 โรงแรมแล้วก็มีการปรับลดเงินเดือนพนักงานลง 25% ทางด้านกลุ่มโรงแรมของกลุ่ม บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปิดโรงแรมในกรุงเทพฯทั้งหมด ส่วนบัดเจ็ดโฮเทล อย่าง โรงแรมบีทู อัตราการเข้าพักลดลงจากเดิม 70-90% เหลือแค่ 10% ในกลางเดือน มี.ค. 63

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต จะเริ่มกลับมาจากการเดินทางภายในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ซึ่งสามารถเห็นตัวอย่างจากในประเทศจีนที่กลางเดือน ก.พ. 63 อัตราการเดินทางภายในจีนปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่ายังไม่กลับมาสู่ในระดับเดิม ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ส่วนอัตราการเข้าพักสามารถแบ่งระดับของโรงแรม ซึ่งจะเห็นว่าการเข้าพักของโรงแรมในระดับล่าง (Economy) เพิ่มขึ้นสูงที่สุด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเปรียบเทียบในเดือน มี.ค.63 เพียงเดือนเดียว โดยมองว่ามาจากโรงแรมในกลุ่มระดับกลางและกลุ่มราคาประหยัดเป็นสถานที่ที่ใช้ในการกักกันผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลุ่มโรงแรมระดับ Luxury อัตราการเข้าพักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในเดือนมี.ค. 63 หรือเพียง 12%

สิ่งที่ McKinsey ตั้งข้อสังเกต คือ ในขณะนี้ผู้เดินทางมีอายุเฉลี่ยน้อยลงหรือว่าเป็น Young Adult ที่เริ่มเดินทาง อีกแนวโน้มหนึ่งคือ การจองตั๋ว Last minute Booking ซึ่งก็คือการจองตั๋วโดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่จองตั๋วถึงวันเดินทางน้อยกว่า 7 วันเพิ่มขึ้นกว่า 90%

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : A New World โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 1)

การท่องเทียว

ขณะเดียวกันเมื่อดูแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะพบแนวโน้มที่ชัดเจนอยู่ 5 ประการ คือ มีการควบรวมกิจการของผู้เล่นในอุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างเช่น อุตสาหกรรมการบินในช่วงปี 60-61 สุดท้ายแล้วจะเหลือสายการบินขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก ทำให้คาดว่าจะมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

และผู้เล่นในอุตสาหกรรม OTA (Online Travel Agent) ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจจะมีการควบรวมกิจการกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามา เช่น Google ซึ่งตอนนี้กำลังประสบปัญหารายรับค่าโฆษณาที่ปรับตัวลดลง อาจจะเปิดทางให้ Google ลงมาเป็นผู้เล่น OTA ด้วยตัวเองได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการปรับตัวของนักท่องเที่ยว จะมีการเดินทางเองแล้วจะใช้อุปกรณ์ดิจิตอลหรือข้อมูลทางด้านดิจิทัลช่วยเหลือในการเดินทางมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการเดินทาง ระยะเวลาจองตั๋วล่วงหน้าจะน้อยกว่า 7 วันด้วยซ้ำไป

McKinsey อ้างถึงรายงานที่ทำในประเทศงจีนก่อนที่เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 เริ่มเห็นว่านักท่องเที่ยวมีการปรับรูปแบบของการเดินทางเป็นการเดินทางที่เรียกว่า Semi-Self guided มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการเดินทางที่เรียกว่า Self-Guided ปรับลดน้อยลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไกลขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ อาจจะมีอุปสรรคทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ดังนั้นการท่องเที่ยวโดยใช้ไกด์นำทางจะเป็นแนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้น

แนวโน้มที่ชัดเจนอีกเรื่องหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยวจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาตั้งแต่ก่อนมีวิกฤตการณ์โควิด-19 คือ สัดส่วน 90% ของนักเดินทางจะได้รับอิทธิพลมาจากออนไลน์รีวิว จำนวน 72% ของ Mobile Booking เกิดขึ้นภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากการทำ Google Search และจำนวน 40% ของนักเดินทางที่มาจากประเทศอเมริกาใช้โทรศัพท์มือถือในการจองทริป ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีวิกฤติโควิด-19 ซึ่งสามารถคาดเดาได้ว่านักเดินทางเองก็จะใช้เวลาค้นหาข้อมูลเองมากที่สุด ส่วนนักเดินทางในกลุ่มธุรกิจจะระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายมากขึ้น

ด้าน Business Traveller จะเริ่มเห็นแนวโน้มของผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ชัดเจน คือ ในเมืองจีนมีคนใช้ Online platform เพิ่มขึ้นอย่างมากอย่าง เช่น การใช้ Online Meeting มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นกว่า 80% ส่วนบริษัทอย่าง Zoom ที่มาจากประเทศอเมริกามีราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นกว่า 50% ส่วนการเดินทางในชั้น First Class หรือ Business Class ปรับตัวลดลง ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้มีมาก่อนในวิกฤตการณ์โควิด-19 และเป็นที่คาดเดาว่าแนวโน้มนี้ยังคงต่อไปในอนาคต

ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแสดง (Tradeshow) ในรูปแบบเดิมจะไม่สามารถแข่งขันได้กับ Tradeshow รูปแบบ MICE (Meetings, Incentives, Conferencing, and Exhibitions) จากแนวโน้มที่ปรับตัวลดลงในเรื่องของจำนวนคนที่เข้ามาใน Tradefair แนวโน้มนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 62 ที่มีจำนวนผู้เข้าชม Tradefair ลดน้อยลงไป ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องปรับตัว รวมไปถึงในอนาคตอันใกล้ทุกคนอาจจะระมัดระวังในการที่จะไป Tradefair ที่มีคนจำนวนมาก สำหรับทางออกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสามารถพบทางออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา คือ ขั้นตอนแรก คือ การจัดตั้ง Nerve Center เพื่อประเมินถึงผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว ถัดไปเป็นการบริหารต้นทุนการปฏิบัติการให้อยู่ในระดับที่ต่ำเพื่อที่ยังสามารถดำเนินกิจการไปได้รวมถึงการดูแลพนักงาน พร้อมมองหาช่องทางในการใช้สินทรัพย์ที่มีและเป็นโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้เสริม อีกทั้งเตรียมการจัดการเพื่อรับมือกับการกลับมาของสภาวะปกติ

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การเตรียมพร้อมสำหรับปกติใหม่ (New Normal) สามารถทำได้โดยการระบุถึงกลุ่มลูกค้าที่มีอัตราการเติบโตที่สูง การพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับ New Normal เช่น การตัดสินใจโดยเฉียบพลันในการเดินทาง การคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัย การสร้างพันธมิตรระหว่างแบรนด์ที่เป็นที่ไว้ใจ และการเตรียมความพร้อมว่าคนเดินทางรุ่นใหม่มักจะใช้ Digital platform ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการใช้ Online Shopping

การท่องเที่ยว

ทั้งนี้ การจัดตั้ง Nerve Center เพื่อดูแผนงานระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท เพื่อบริหารจัดการเพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้ ทางเลือกที่บริษัทสามารถทำได้เพื่อการตัดสินใจที่สำคัญสำคัญเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับผู้บริหารในองค์กร และการสร้าง Cash Lab ที่เป็นการบริหารจัดการเงินสดโดยใช้ Action 3 ส่วนก็คือ

1.การประเมินสถานการณ์เงินสดณปัจจุบันรวมถึงการคาดเดากระแสเงินสดในอนาคต 2.การดูแลเรื่องการรับและจ่ายเงิน และ3.การสร้างกระบวนการให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจรวมถึงการมองระยะยาวในเรื่องของสภาพคล่องขององค์กรโดยสร้าง scenario ที่หลากหลาย

ด้านแนวทางที่องค์กรสามารถใช้พิจารณาในการช่วยเหลือพนักงานในช่วงเวลาวิกฤติ ทาง McKInsey แนะนำว่ามีความเป็นไปได้ 4 แนวทางด้วยกัน คือ 1.การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร 2.หาโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานที่จำเป็นต้องออกจากงาน 3.จัดหาเงินทุนเพื่อช่วยพนักงานที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน 4.พัฒนาทักษะของพนักงานเพื่อให้สามารถทำงานประเภทอื่นได้ โดยสิ่งที่เป็นไปได้ คือ บางครั้งองค์กร 2 องค์กรจะสามารถที่จะช่วยเหลือหรือส่งพนักงานเข้าระหว่างองค์กรได้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Redeployment Platform

McKinsey ยังแนะนำว่ากระบวนการทำธุรกิจในการค้นหานักเดินทางในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีผู้เล่นหลากหลายไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการหาข้อมูลก่อนเดินทาง รวมถึงการทำ Booking การหาทัวร์โอเปอเรเตอร์ การหา Suppliers อย่างสายการบินโรงแรม รถเช่า และเรือสำราญ จนถึงการเดินทางสู่จุดหมายปลายทาง

ทั้งนี้ มองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยอาจจะโอกาสสร้าง Platform กลางขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงผู้เล่นต่างๆ ในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น Operator อย่าง สายการบิน Tour Agent โรงแรม รวมถึง ผู้จัด Event ต่างๆ เข้ากับผู้เดินทาง สำหรับการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และการเดินทางกลับสู่ประเทศของตัวเองอีกครั้ง เทคโนโลยีจะสามารถสร้างประสบการณ์เสมือน (Virtualization) ให้กับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยควรจะพิจารณา

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 3) การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านอาหาร

Related Posts