กราฟเทคนิค

8 ข้อต้องรู้ของการใช้กราฟเทคนิค

โดย SM1984

กราฟเทคนิค เป็นเครื่องมือวิเคราะห์การลงทุนซึ่งเป็นที่นิยมของนักลงทุนหรือเทรดเดอร์ทั่วโลกเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ไม่ว่าทั้งมือใหม่และมือกลางมักจะมีข้อสงสัยหรือข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทางเทคนิคอยู่ไม่ใช่น้อย  บทความนี้จะมาอธิบายถึงความจริงของเครื่องมือทางเทคนิคว่าถูกนำมาใช้ในการเทรดหรือลงทุนอย่างไร

กราฟไม่ได้แม่นยำ 100% 

หลักการของ กราฟเทคนิค ก็คือการใช้สถิติหรือราคาที่เกิดขึ้นในอดีตมาคำนวนด้วยเครื่องมือหรือ Indicator ต่างๆเพื่อออกมา “คาดการณ์” แนวโน้มราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในรูปแบบของ “ความน่าจะเป็น” การใช้กราฟจึงไม่ได้แม่นยำทั้ง 100% แค่สามารถบอกได้ว่ามีความน่าจะเป็นสูงหรือต่ำ เพราะนอกเหนือจากสภาวะตลาดปกติแล้วอาจจะเกิดสิ่งที่คาดไม่ถึงซึ่งควบคุมไม่ได้จนทำให้ราคาไม่เป็นไปตามความน่าจะเป็นของกราฟก็ได้

กราฟไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะขึ้นหรือลง

ย้ำอีกทีว่ากราฟไม่ได้แม่นยำทั้งหมด 100% จึงไม่สามารถที่จะคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้ว่าแนวโน้มราคาจะขึ้นหรือลง คำถามที่ว่า “หุ้นตัวนี้จะขึ้นไหม?” จึงเป็นคำถามที่ตอบแบบปรนัยชัดๆไม่ได้ว่าจะขึ้นหรือลง แต่สามารถใช้เครื่องมือทางเทคนิคบอกได้ว่า หุ้นตัวนี้กำลังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หรือมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้น แต่ย้ำอีกทีว่า “ฟันธง” ไม่ได้ทั้ง 100%

กราฟคือการวางแผนการเทรด

ในเมื่อ กราฟเทคนิค ไม่ใช่เครื่องมือการพยากรณ์ราคา หน้าที่แท้จริงจึงใช้เป็นการวางแผนในการซื้อขาย ตั้งแต่การเลือกสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มขาขึ้น เลือกจุดซื้อที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ดีที่สุด เลือกจุดขายให้ได้กำไรที่สุด ตลอดจนแผนการตัดขาดทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากสามารถวางแผนการเทรดและทำตามได้อย่างเคร่งครัดก็จะช่วยให้การเทรดประสบความสำเร็จได้

กราฟต้องใช้คู่กับหลักการ Money Management 

นอกจากใช้กราฟเป็นเครื่องมือวางแผนการเทรดแล้ว การที่จะประสบความสำเร็จในการเทรดจะต้องมีหลักการของการบริหารเงินหรือ Money Management ควบคู่ไปด้วย เช่น การคัดเลือกจำนวนหุ้นหรือสินทรัพย์ในพอร์ต การให้น้ำหนักการลงทุนกับสินทรัพย์ในพอร์ต ตลอดจนการควบคุมความเสี่ยงจากผลขาดทุน

แต่ละคนใช้เครื่องมือทางเทคนิคไม่เหมือนกัน

เวลาที่ไปเรียนใช้เครื่องมือทางเทคนิคอาจจะสงสัยว่าทำไมอาจารย์แต่ละคนหรือแต่ละหลักสูตรทำไมถึงสอนใช้เครื่องมือที่ไม่เหมือนกัน เป็นเพราะผู้สอนแต่ละคนมีสไตล์การลงทุนที่ไม่เหมือนกัน เช่น ใช้เครื่องมือไม่เหมือนกันหรือใช้เครื่องมือเหมือนกันแต่ตั้งค่าไม่เหมือนกัน (ตัวอย่างเช่นเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่หรือ EMA แต่ละคนตั้งค่าไม่เหมือนกัน) แม้ว่าทฤษฎีการลงทุนจะเป็นวิชาที่เป็นสากลและใช้หลักการเดียวกันทั้งโลก

การที่ผู้สอนแต่ละคนใช้เครื่องมือไม่เหมือนกันไม่ได้หมายความว่าใครคนใดคนหนึ่งผิด เป็นเพียงแค่สไตล์และความคุ้นเคยที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น ผู้ที่นำมาใช้ต้องเป็นผู้วิเคราะห์และคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง อย่าเชื่อตำราหรือผู้สอนทั้งหมด 100%

กราฟแสดงถึงอารมณ์ตลาดและพื้นฐานของสิ่งๆนั้นไว้ทั้งหมดแล้ว

นักลงทุนบางส่วนมักมีคำถามว่าเมื่อดูกราฟแล้วต้องวิเคราะห์พื้นฐานด้วยหรือไม่ แท้จริงแล้วหากศึกษาพื้นฐานขอสินทรัพย์ไว้บ้างก็จะเป็นการดีเพราะจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าลงทุนในสินทรัพย์มีคุณภาพ แต่ก็มีหลักคิดหนึ่งที่บอกว่าไม่จำเป็นต้องอ่านพื้นฐานก็ได้เพราะมีทฤษฎีที่ว่า Price Discount Everything หรือ ราคาที่เห็นได้สะท้อนทุกสิ่งของสินทรัพย์นั้นๆไว้ทั้งหมดแล้ว

ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเทคนิคทั้งหมดที่มี

เครื่องมือทางเทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันนับร้อยชนิด เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจเครื่องมือทั้งหมดขอเพียงรู้จักเครื่องมือหลักที่สำคัญก็พอ รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่เรารู้จักทั้งหมดในการวิเคราะห์เพราะบางเครื่องมืออาจไม่สามารถใช้ร่วมกันได้หรือมีความย้อนแย้งกันเอง หากนำมาใช้ปนกันอาจเกิดความสับสนขึ้นได้

เครื่องมือเทคนิคต่างๆมีวิธีใช้ไม่เหมือนกัน

อินดิเคเตอร์หรือเครื่องมือต่างๆที่ใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางเครื่องมือเหมาะกับการคาดการณ์แนวโน้ม (Leading Indicator) บางเครื่องมือเหมาะกับการยืนยันแนวโน้ม (Lagging Indicator) บางเครื่องมือเหมาะกับผู้ที่ลงทุนระยะยาว ผู้ใช้จึงควรต้องศึกษาว่าตัวเองเหมาะสมกับการใช้เครื่องมือประเภทใด 

บทความที่เกี่ยวข้อง : เคล็ดลับการเลือก Trade Setup ที่เหมาะสมของนักลงทุนรายย่อย

Related Posts