หุ้น EA

เจาะหุ้น EA กับโอกาสการเป็น TESLA ของตลาดหุ้นไทย??

โดย SM1984

หุ้น EA หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ จำกัด (มหาชน) จากผู้ผลิตไบโอดีเซลสู่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและล่าสุดกับภารกิจที่จะก้าวสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเมกะเทรนด์ มีโอกาสแค่ไหนที่ EA จะก้าวเข้าสู่หุ้น Super Growth Stock แบบเดียวกับ TESLA ของนาย Elon Musk 

โครงสร้างรายได้ของ EA ในปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบัน หุ้น EA มีสามธุรกิจหลักด้วยกันคือ

1.) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กลีเซอรีนบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ และสารเปลี่ยนสถานะ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ 60%
2.) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ผ่านการ COD เรียบร้อยแล้วจำนวน 644 MW

3.) กลุ่มธุรกิจอื่นๆนั่นคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า อย่างธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ ธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนธุรกิจวิจัยและพัฒนา มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 1% เท่านั้น

ทั้งนี้ผู้บริหารของ EA ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในส่วนที่ 3 ให้มีสัดส่วนเป็น 20% โดยใช้งบลงทุน 17,000 ล้านบาทในการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะเริ่มเห็นโปรดักต์ออกมาในไตรมาสแรกของปี 2021 และจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่สอง

โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มต้นจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงและมีเป้าสูงสุดที่จะผลิตให้ได้ 50 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง 

มุ่งหน้าเป็นผู้ให้บริการ Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้บริหารของ EA ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าเป้าหมายของบริษัทคือการเป็นผู้ให้บริการ Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ไม่ได้มุ่งสร้างแต่ยานพาหนะเพียงอย่างเดียว โดยโครงสร้างจะประกอบไปด้วยโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่  สถานีชาร์ทและศูนย์ซ่อม ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีสถานีชาร์ทกว่า 600 แห่ง ซึ่งมากที่สุด

ทั้งนี้ EA ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง แต่เน้นที่จะเป็นพันธมิตรกับค่ายรถไฟฟ้าต่างๆในการให้บริการ เช่น สถานีชาร์ทที่สามารถชาร์ทเต็มได้ภายใน 15 นาที 

รวมถึงล่าสุดที่มีการเปิดตัวเรือพลังงานไฟฟ้า บ่งบอกว่าบริษัทฯไม่ได้ตั้งใจจะเป็นคู่แข่งกับค่ายรถยนต์ที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตแต่มุ่งที่จะเป็นพันธมิตรกันมากกว่า

โดยบริษัทฯได้เป็นพันธมิตรกับสถานีผู้ให้บริการน้ำมันอย่าง SUSCO และ Caltex ในการติดตั้งสถานีชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามบริษัทฯไมไ่ด้มองว่าสถานชาร์ทจะต้องอยู่ในปั้มน้ำมันเท่านั้นแต่สามารถตั้งอยู่ในจุดอื่นอย่างเช่นห้างสรรพสินค้าหรือ Community Mall 

เจาะงบการเงิน

ผลประกอบการของ EA เติบโตต่อเนื่องหลายปีติดต่อ โดยปี 2561 มีกำไรสุทธิ 4,975.21 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 6,081.62 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปี 2563 มีกำไรสุทธิ 3,720.48 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าในมือของ EA กำลังจะหมด adder (การสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐ) ลงในช่วงปี 2023-2028 ซึ่งจะมีผลต่อกำไรสุทธิที่อาจลดลงหากไม่มีธุรกิจใหม่เขามาทดแทน

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าในมือของ EA กำลังจะหมด adder (การสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐ) ลงในช่วงปี 2023-2028 ซึ่งจะมีผลต่อกำไรสุทธิที่อาจลดลงหากไม่มีธุรกิจใหม่เขามาทดแทน

โดยเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าหรือ Adder คิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 45% ของ EA หากรายได้ส่วนนี้หมดไปจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตเป็นอย่างมาก

ในแง่งบลงทุนคาดการณ์ว่าจุดคุ้มทุนของการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าของ EA น่าจะคุ้มทุนในปีที่ 6 ของการลงทุน  ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุนหรือ D/E  อยู่ที่ 1.94 เท่า ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ

ส่วนค่า P/E Ratio ที่ระดับ 36 เท่า แม้ว่าจะสูงเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนอื่นอย่าง  GPSC ที่มี P/E อยู่ที่ 30 เท่า แต่เมื่อเทียบกับหุ้นโรงไฟฟ้าตัวอื่นอย่าง GULF ที่ P/E 120 เท่าหรือ BGRIM ที่ P/E 66 เท่าก็ยังถือว่าไม่สูงมาก หากตลาดเริ่มให้พรีเมี่ยมกับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้อีก

จุดเด่นของ EA ก็คืออัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ที่ระดับ 29% ซึ่งถือว่าสูงสุดในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าซึ่งอยู่ระดับเลขตัวเดียว

ราคาหุ้น EA เป็นอย่างไรบ้าง

หุ้น EA กำลังลุ้นที่จะสร้างจุดสูงสุดใหม่เหนือระดับ 71.50  บาทที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว หลังจากผ่านแนวต้านสำคัญแรกที่ระดับ 58 บาทมาได้ โดยที่ระดับ 62 บาทถือเป็นแนวรับตามแนว Fibonacci พอดี หากยืนอยู่ได้จะมีแนวต้านสำคัญที่จุดสูงสุดเดิม 71.50 

หุ้น EA

หากผ่านไปได้จะมีเป้าหมายที่ระดับ 100 บาท ซึ่งเป็นแนวต้านตามแนวจิตวิทยาและเป็นเป้าหมายตามแนว Fibonacci 161.8 

โอกาสและความเสี่ยง

มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Market ในประเทศไทยจะเติบโตกว่า 33% โดยเฉลี่ยจนถึงปี 2030 ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกปีละ 2 ล้านคัน หากมีการปรับรูปแบบการผลิตมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

แต่ความเสี่ยงของ EA ก็คือนโยบายของภาครัฐที่ดูแล้วยังไม่ชัดเจนในแง่ของการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวสักเท่าไร ตลอดจนความสามารถในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถยนต์ในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นค่ายญี่ปุ่นดูแล้วยังเป็นรองชาติอื่นในเอเชีย

บทสรุป

EA มีข้อได้เปรียบบริษัทอื่นๆในตลาดหากกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการที่เข้ามาเป็นผู้เล่นรายแรกๆของอุตสหากรรมนี้ ตลอดจนความพร้อมในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิต Storage ที่ได้จาก Amita ไต้หวัน ตลอดจนสถานีชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมากที่สุดในเวลานี้

หุ้น EA มีโอกาสที่จะเดินตามรอยหุ้น TESLA รวมถึงหุ้นรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆอย่าง NIO ที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในปีที่ผ่านมาได้หากภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ตลาดก็พร้อมที่จะให้น้ำหนักการลงทุนกับหุ้นที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน 

บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดโผ 5 สินทรัพย์น่าลงทุนในปี 2021 ให้ได้ผลตอบแทน

Related Posts