ตลาดหุ้นจีน

ตลาดหุ้นจีน โอกาสการลงทุนหรือฟองสบู่ที่กลับมาอีกครั้ง?

โดย SM1984

ตลาดหุ้นจีน หรือ ดัชนี Shanghai Composite เมื่อไม่นานมานี้ปรับตัวขึ้นกว่า 5% ภายในวันเดียว มีต้นเหตุมาจากการที่สื่อของรัฐบาลได้ออกมาบอกว่าถึงเวลาลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ทำให้นักลงทุนรายย่อยแห่กันเข้าซื้อหุ้นอย่างบ้าคลั่ง

ประกอบกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดชะลอตัวลง (ยังไม่ถึงกับจบแต่พอที่จะควบคุมได้) สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดได้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเป็นแห่งเดียวในโลกที่ยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้ แม้จะเพียง 1% แต่หากเทียบกับประเทศอื่นที่ติดลบถึงหลักเลขสองหลักก็ต้องถือว่าดีมากแล้ว

ตลาดหุ้นจีน เคยอยู่ในภาวะกระทิงมาแล้วสองครั้งคือครั้งแรกในปี 2007 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดมหกรรมโอลิมปิคที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นจีนได้แสดงศักยภาพของการเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกและการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาล ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นไปแตะระดับ 6,000 จุด

ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี 2015 หลังจากวิกฤติซับไพร์มได้จบลง เศรษฐกิจจีนกลับมาร้อนแรงอีกครั้งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 5,200 จุด ปรับตัวขึ้นกว่า 150% มีการพูดถึงการสร้างจุดสูงสุดใหม่ ทว่าตลาดก็กลับมาเป็นภาวะหมีอีกครั้งโดยหุ้นร่วงลงกว่า 30% ในระยะเวลาเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น จากนั้นก็ขึ้นๆลงๆมาเกือบ 5 ปี 

การที่สัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี Shanghai Composite ทะลุผ่านระดับ 3200 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมของปีที่แล้วไปได้ ทำให้เกิดความหวังว่านี่จะเป็นขาขึ้นรอบที่สามของตลาดหุ้นจีนหรือไม่

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ต้องติดตามว่าการปรับตัวขึ้นของ ตลาดหุ้นจีน ในครั้งนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นหรือเป็นการเกิดศักราชใหม่ของจีนในฐานะผู้นำใหม่ของโลกแทนที่สหรัฐฯหรือไม่

หากไม่นับดัชนี NASDAQ ที่ปรับตัวขึ้นทำลายสถิติใหม่จากการนำของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว ดัชนี S&P500 และ Dow Jones ถึงเวลานี้ (กรกฎาคม 2563) ยังให้ผลตอบแทนติดลบ แต่ Shanghai Stock Exchange และ Shenzhen Stock Exchange ให้ผลตอบแทนในระดับเลขสองหลักแล้ว

วิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน

ปัจจัยที่จะผลักดัน ตลาดหุ้นจีน ให้เติบโตแซงหน้าตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ในอนาคตคือการที่จีนปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากที่เคยเป็นโรงงานผลิตของโลกที่ขึ้นชื่อในด้านการผลิตสินค้าราคาถูกเปลี่ยนมาเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงเพิ่มสัดส่วนภาคบริการในสัดส่วนของจีดีพี โดยการบริการด้านข้อมูล ซอฟท์แวร์ และเทคโนโลยี ก็กำลังเติบโตขึ้นมาทัดเทียม ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีสูงถึง 23.4% 

หากสหรัฐฯมีหุ้นเทคโนโลยีเป็นตัวชูหน้าชูตา ตลาดหุ้นจีน ก็มีหุ้นกลุ่มนี้ด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็น Tencent ,Baidu,ZTE รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีเกิดใหม่อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถาบันการเงินอย่างธนาคารบิ๊ก 4 และ Ping An ที่เป็นหุ้นมาร์เกตแคปใหญ่

ขณะที่ปัจจัยหนุนเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ จีนเพิ่งออกกฎหมายการลงทุนสำหรับต่างชาติฉบับใหม่ (Foreign Investment Law) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา ปลดล็อกธุรกิจอีกหลายหมวดอุตสาหกรรมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนได้ 

จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากที่เคยเป็นโรงงานของโลก และการเติบโตของเศรษฐกิจพึ่งพาภาคการผลิตเป็นหลัก ตอนนี้จีนเข้าใกล้ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยภาคบริการมากขึ้น เห็นได้ชัดจาก GDP ของประเทศจีน ที่ภาคบริการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ สร้างรายได้นำภาคการผลิตนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 เป็นต้นมา

ปัจจุบันประเทศจีนส่งออกบริการเชิงพาณิชย์เป็นอันดับที่ 5 ของโลกแล้ว ในขณะที่ภาคการผลิตของจีนหดตัวลง เฉลี่ย 5 ปีเติบโต -1.6% ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศเองก็ตระหนักถึงโอกาสการเติบโตมหาศาลของภาคบริการของจีน เห็นได้จากสัดส่วนการลงทุนภาคการบริการโดยตรงจากแหล่งเงินต่างประเทศ (FDI) ที่สูงถึง 68.1%

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีน มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณซื้อขายอีกทั้งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเป็นนักเก็งกำไรมากกว่านักลงทุนรวมถึงนิยมการกู้เงินมาลงทุนหรือ Margin Loan นี่เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองเพราะเมื่อไรที่การเก็งกำไรจบลง ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วโดยเห็นตัวอย่างแล้วจากขาขึ้นสองครั้งที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นจีน

ทำความรู้จักตลาดหุ้นจีนผ่านสองดัชนีสำคัญ

ปัจจุบันประเทศจีนมีตลาดหุ้นสองแห่งคือ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange – SSE) และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange – SHZE) ทั้งสองตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าใหญ่ติด 1 ใน 10 ของตลาดหลักทรัพย์โลก โดย SSE นั้นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 และ SHZE อยู่ที่อันดับ 8

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนนั้นได้จำกัดการเข้าลงทุนของต่างชาติในสองดัชนีดังกล่าว ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นชาวจีนที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่และใช้สกุลเงินหยวนในการลงทุนเท่านั้น 

หากสนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นจีน ต้องทำความรู้จักกับสองดัชนีแบบแรกคือ A Share คือดัชนีที่รวมหุ้นจากดัชนี SSE และ SHZE เอาไว้ โดยเป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่และดำเนินธุรกิจอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

ขณะที่ H Share จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ โดยเป็นบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในแผ่นดินใหญ่แต่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนของโลกและเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน

นอกจากนี้ยังมีดัชนี CSI 300 Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้น A-Shares 300 หุ้น ซึ่งจดทะเบียนอยู่ที่ดัชนี SSE และ SHZEโดยคัดเลือกจากหุ้นทั้งหมดกว่า 1,800 หลักทรัพย์ โดยหุ้น 300 หลักทรัพย์นี้ เป็นตัวแทนประมาณ 60% ของมาร์เกตแคปรวมทั้ง 2 ตลาด ทั่วไปแล้วนักลงทุนต่างชาติจะใช้ดัชนีดังกล่าวในการตัดสินใจลงทุน

แม้คนไทยจะมีโอกาสน้อยที่จะลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นจีน แต่ก็พอมีช่องทางลงทุนทางอ้อมอย่างกองทุน ETF,กองทุนรวม ได้เช่นกัน นี่คือโอกาสการลงทุนที่ไม่ควรพลาดโอกาส

วิเคราะห์ทางเทคนิคตลาดหุ้นจีน

ตลาดหุ้นจีน

กราฟระดับสัปดาห์ของตลาดหุ้นจีนแสดงให้เห็นว่าหลังจากลงมาทำจุดต่ำสุดในช่วงปลายปี 2008 จุดต่ำสุดของดัชนีมีการยกตัวสูงขึ้น โดยมีเส้นเทรนด์ไลน์ด้านล่างเป็นแนวรับ

แนวต้านระยะสั้นของดัชนี SSE อยู่ที่ระดับประมาณ 3,700 จุดซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมตั้งแต่ปี 2016 และถ้าหากผ่านเส้นเทรนด์ไลน์ขากดข้างบนไปได้จะเป็นการยืนยันว่าตลาดหุ้นจีนเป็นขาขึ้นรอบใหญ่อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามการเป็นขาขึ้นแต่ละครั้งของหุ้นจีนจะขึ้นด้วยความรวดเร็วทั้งสิ้นและจะจบลงด้วยการถูกเทขายอย่างรวดเร็วเช่นกัน 

ทั้งนี้ตลาดขาขึ้นรอบก่อนหน้าในปี 2015 ตลาด SSE มีค่าพีอีอยู่ที่ 24 เท่า ส่วนตลาด SHZE มีค่าพีอีอยู่ที่ 72 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพง หากรอบนี้ดัชนีทั้งสองมีค่าพีอีที่ใกล้เคียงระดับเังกล่าวจำเป็นที่จะต้องลดสัดส่วนการลงทุนลง

บทความที่เกี่ยวข้อง : พลิกวิกฤตหาโอกาสลงทุนตลาดหุ้นจีน

Related Posts