GDP

GDP คืออะไร ใช้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร??

โดย SM1984

GDP กับ “การลงทุน” นักลงทุนที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจ คงไม่มีใครไม่รู้จักตัวเลขทางเศรษฐกิจที่นิยมใช้เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักตัวหนึ่ง นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือที่รู้จักกันในนามGDP (Gross Domestic Product)  เป็นตัวเลขมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย (Final goods) ที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปจะใช้ช่วงเวลาประมาณ 1 ปี โดยจะไม่นับรวมสินค้าขั้นกลาง (Intermediate goods) เพราะจะทำให้ตัวเลขGDPสูงเกินความเป็นจริง

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่รายงานจีดีพีคือ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การวัดมูลค่าGDPทำได้ 2 ทาง

  1. การรวมรายจ่ายทั้งหมดที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตได้ในเวลานั้น (Expenditure Approach) โดยทั่วไปวิธีนี้จะเป็นที่นิยมมากกว่า จึงจะขอกล่าวถึงวิธีนี้เป็นหลัก

2) การรวมรายรับทั้งหมดที่เป็นค่าตอบแทนทรัพยากรและต้นทุนอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเข้าด้วยกัน นับเป็นรายได้ของผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต (Resource cost-income Approach)

โดยสรุปGDPเป็นการวัดมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ผู้ลงทุน รัฐบาล และชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการวัดรายได้ของผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอีกด้วย

การคำนวณGDPโดยใช้ Expenditure Approach จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

1) การบริโภคภาคเอกชน

โดยส่วนใหญ่เป็นการบริโภคสินค้าไม่คงทน และบริการต่างๆ เช่น อาหาร เสื้อผ้า การบันเทิง เป็นต้น ส่วนสินค้าคงทน ก็เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน อาจใช้เป็นตัวคาดการณ์แนวโน้มการเกิดเงินเฟ้อในอนาคตได้ และบอกได้ถึงเทรนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต

2) การลงทุนของภาคเอกชน

ภาคเอกชน จะมีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการ หรือสร้างสินค้าทุนที่จะนำไปผลิตสินค้าและบริการในอนาคต อย่างเช่น อุปกรณ์เครื่องมือ อาคาร โรงงาน รวมถึงบ้านด้วย ในส่วนนี้จะได้ตัวชี้วัดสำคัญ นั่นก็คือ “การลงทุนสุทธิ” ที่เป็นตัวบอกถึงผลิตภาพของเศรษฐกิจในอนาคต โ

หากการลงทุนสุทธิอยู่ในระดับสูง จะบอกถึงปริมาณแนวโน้มปริมาณสินค้าในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในการเพิ่มผลิตภาพด้วย แต่หากระดับการลงทุนสุทธิต่ำ หรือติดลบ จะบอกถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือหดตัวนั่นเอง

นอกจากมูลค่าการลงทุนแล้ว อีกประเด็นที่ควรคำนึงถึงนั่นก็คือ ความมีประสิทธิภาพของการลงทุน หรือเรียกง่ายๆคือ ผลตอบแทนจากการลงทุนนั่นเอง ซึงหากผลตอบแทนสูงเศรษฐกิจก็จะขยายตัวตาม แต่ถ้าหากผลตอบแทนการลงทุนต่ำ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามที่คาดไว้

3) ค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านการบริโภคและการลงทุน

ในส่วนนี้เป็นรายจ่ายที่ภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่จะเห็นได้หลักๆก็พวกการลงทุในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน รถไฟความเร็วสูง ถนน รวมถึงสถานที่ราชการ เป็นต้น โดยสัดส่วนรายจ่ายรัฐบาลมักจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย รายจ่ายด้านการลงทุน รายจ่ายด้านการศึกษาและวิจัย และรายจ่ายด้านการบริหารทั่วไป

การใช้จ่ายภาครัฐจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งแล้วแต่ว่าโครงการของภาครัฐจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากเราทราบถึงการใช้จ่ายในโครงการต่างๆของภาครัฐ ก็จะช่วยให้เราสามารถเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหมาะสมนั่นเอง

4) การส่งออกสุทธิ

ในส่วนสุดท้ายสามารถคำรวณโดยการนำมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ลบด้วยมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ก็จะได้มูลค่าการส่งออกสุทธิกลับมา หากเราขายสินค้าและบริการให้กับต่างชาติได้มากกว่าที่เราซื้อจากต่างชาติ มูลค่าการส่งออกสุทธิก็จะเป็นบวก (เกินดุลการค้า)

แต่หากเราซื้อสินค้าและบริการจากต่างชาติได้มากกว่าที่เราขายให้กับต่างชาติ มูลค่าการส่งออกสุทธิก็จะเป็นลบ (ขาดดุลการค้า) โดยการนำเข้า-ส่งออกนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแข็ง-อ่อนของค่าเงินในประเทศนั้นๆ ค่าเงินที่อ่อนก็ส่งผลบวกต่อบริษัทที่มีรายได้จากการส่งออกเป็นหลัก แต่ถ้าค่าเงินแข็งค่าจะส่งผลบวกต่อบริษัทที่มีรายได้จากการนำเข้าเป็นหลัก

ปัญหาในการวัด GDP

แม้ว่าตัวเลขGDPจะเป็นตัวเลขที่เป็นปัจจุบัน และนิยมใช้กันในทุกประเทศ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบนัก เนื่อจากยังมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง แต่ไม่ได้ถูกรวมคำนวณในGDPเนื่องด้วยสาเหตุหลายๆอย่าง ในทางตรงกันข้าม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจก็ไม่ถูกรวมในGDPเช่นเดียวกัน โดยข้อจำกัดหลักๆ ได้แก่

1) สินค้าและบริการที่ไม่ได้มีการขายทอดตลาด

กิจกรรมของภาคครัวเรือนหลายๆอย่าง เช่น การซ่อมแซมบ้าน การทำอาหาร ซึ่งไม่ได้เกิดการซื้อขาย จึงไม่ได้ถูกรวมเข้าคำนวณ GDP ปัญหาดังกล่าวทำให้การเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงเวลาต่างๆ เป็นไปได้ยาก และไม่ตรงตามความเป็นจริง

2) เศรษฐกิจในตลาดมืด

อย่างเช่น การหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายหรือการจ่ายภาษี โดยเฉพาะการชำระด้วยเงินสด ทำให้การิดตามยาก นอกจากนี้ยังรวมถึงกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การขนของหนีภาษี ส่วนใหญ่ซื้อขายด้วยเงินสด นอกจากนี้ยังรวมถึงกิจกรรมถกกฎหมายหลายอย่าง ซึ่งรายการดังที่กล่าวมาจะไม่ถูกรวมในGDP

3) GDP ไม่ใช่ตัววัดสวัสดิการ

ตัวเลขGDPไม่ได้รวมเวลาพักผ่อนและต้นทุนแฝงบางตัว การวัดความกินดีอยู่ดี โดยไม่รวมเวลาที่ได้พักผ่อนและสุขภาพที่ดี นักเศรษฐศาสตร์บางคนจึงมองว่าGDPไม่สามารถวัดมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังที่หลายๆคนชอบบ่นว่า ทำไมGDPโตขึ้น แต่ธุรกิจหรือการค้าขายแย่ หรือคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้นเลย

นอกจากนี้ GDP ไม่ได้รวมสิ่งที่เป็นอันตรายหรือเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น มลพิษทางน้ำหรือทางอากาศ รวมถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากภัยธรรมชาติ หรือภัยจากการก่อการร้าย รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ได้ และผลิตสินค้าลดลง

4) คุณภาพที่แตกต่างและสินค้าชนิดใหม่

ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีสินค้าชนิดใหม่ๆขึ้นมาทดแทนสินค้าเดิม ทำให้เกิดความไม่เที่ยงตรงในการวัดGDPอย่างเช่น เมื่อมี Smart phone รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ในการคำนวณGDPจะคำนวณในเชิงปริมาณเท่านั้น โดยจะไม่รวมคุณภาพที่ดีขึ้นในการคำนวณ

GDP เป็นเพียงข้อมูลเชิงปริมาณตัวหนึ่งที่ใช้เป็นตัวแทนในการวัดการทำงานของระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าจะยังมีข้อบกพร่องในการชี้วัดมาตรฐานการดำรงชีพ แต่GDPก็ยังใช้เป็นตัวชี้วัดให้เห็นภาพแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจการกินดีอยู่ดีของประชาชนได้บ้าง และบ่งบอกได้ถึงความอยู่ดีกินดีของเศรษฐกิจได้อย่างกว้างๆ โดยการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน จึงควรใช้อย่างเข้าใจ และระมัดระวังครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกันระหว่างวิกฤติ ต้มยำกุ้ง-โควิด19

Related Posts