กองทุนรวม

ผลตอบแทนจากกองทุนรวมมีอะไรบ้าง

โดย SM1984

กองทุนรวม นับได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงตลาดหุ้นได้มากขึ้น หากย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน คนที่อยากจะร่ำรวยจากการลงทุนก็อาจต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งการเลือกหุ้น การซื้อขาย การบริหารจัดการเงิน ฯลฯ ทั้งที่ในความจริงแล้ว การลงทุนในหุ้นด้วยตัวเองไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีเวลา

แต่เมื่อกองทุนรวมถือกำเนิดขึ้น มันจึงเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับใครหลายคน เพราะเราไม่ต้องเลือกหุ้นเป็นรายตัวอีกต่อไป มีมืออาชีพคอยดูแล การกระจายการลงทุนก็ทำได้ง่าย และที่สำคัญคือใช้เงินเริ่มต้นน้อยกว่า เดี๋ยวนี้บางกองทุนใช้เงิน 500 บาทก็ซื้อได้แล้ว ที่ผ่านมาจึงมีเงินไหลเข้าตลาดกองทุนรวมเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

บางคนอาจมีความรู้ในเรื่องกองทุนรวมบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่เคยซื้อ (หรือมีประสบการณ์น้อย) กองทุนรวมมาก่อนเลยล่ะ ? เราจะได้กำไรจากกองทุนรวมยังไงบ้าง

ส่วนต่างราคา

กำไรพื้นฐานแรกสุดของกองทุนรวมก็คือส่วนต่างราคา ความหมายนั้นตรงตัวครับ ซื้อวันนี้ที่ราคา 10 บาท หากผ่านไปหนึ่งปี ราคาขยับขึ้นเป็น 20 บาท นักลงทุนจะได้กำไรจากส่วนต่างราคาที่ 10 บาทต่อหน่วย ถ้าเราถือกองทุนนี้อยู่ในมือสัก 1,000 หน่วย นั่นเท่ากับว่า เราจะได้กำไรเป็นเงินถึง 1,000 x 10 = 10,000 บาทเลยทีเดียว

ซึ่งกองทุนรวมหลายกองสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่านี้มาก บางกองทุนนั้นมีราคาหน่วยลงทุนที่หน่วยละ 50 บาทเข้าไปแล้ว ดังนั้นใครที่ซื้อตั้งแต่ราคา 10 บาท (กองทุนรวมทุกกองจะเสนอขายที่ราคา 10 บาทเท่ากันหมด) ก็จะได้กำไรกว่า 5 เท่า

แต่ความเสี่ยงมันก็มีเช่นกัน เพราะกองทุนรวมที่ราคามีโอกาสขึ้นสูงๆ ขนาดนี้ได้ มักจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งราคาของกองทุนจะขยับขึ้นลงตามราคาของหุ้นที่เข้าไปลงทุน หากหุ้นขึ้น ราคากองทุนก็จะขยับขึ้น แต่ถ้าหุ้นตก ราคากองทุนอาจเหลือ 3-5 บาทก็ยังได้ ในขณะที่หากเป็นกองทุนรวมซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้) กองทุนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ราคากองทุนก็ขึ้นช้ากว่าเช่นกัน

เงินปันผล

กำไรแบบถัดมาคือเงินปันผล กองทุนรวม นั้นจะมีทั้งสองแบบคือจ่ายเงินปันผลและไม่จ่าย (โดยมากกองทุนที่จ่ายปันผลมากจะเป็นกองทุนหุ้น) มีหลายๆ คนที่ชื่นชอบกองทุนประเภทจ่ายปันผลเป็นอย่างมาก เพราะกองทุนบางแห่งนั้นจ่ายเงินปันผลสูงถึง 30% ของราคากองทุนก็มี หากนักลงทุนซื้อที่ราคา 10 บาท พอสิ้นปี เราจะได้เงินปันผลกลับมาถึง 3 บาทเลยทีเดียว

แต่ข้อเสียของกำไรจากเงินปันผลก็คือ 1) เป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี 10% ดังนั้นผลตอบแทนของนักลงทุนก็จะลดลง และ 2) เงินปันผลนั้นมาจากการหักมูลค่ากองทุนออกมาจ่าย ไม่ใช่เงินปันผลจากหุ้นที่ถือโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ราคากองทุนอยู่ที่ 10 บาท ผ่านไปถึงสิ้นปี ราคากองทุนอยู่ที่ 13 บาท ทางผู้จัดการกองทุนอาจหักเงิน 3 บาทที่เพิ่มขึ้นมานี้จ่ายเป็นปันผลให้กับเรา ไม่ใช่เงินปันผลที่ได้มาจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่

หากนักลงทุนไปดูราคากองทุนรวมย้อนหลัง โดยเปรียบเทียบระหว่างกองทุนที่จ่ายและไม่จ่ายเงินปันผล จะพบว่า ราคาของกองทุนที่จ่ายเงินปันผลนั้นมักจะอยู่กับที่ หรือขึ้นแต่ไม่มากเท่ากับกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล เพราะมูลค่าของกองทุนถูกหักออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับนักลงทุนนั่นเอง

แต่มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียที่เราเห็นได้ชัดคือราคากองทุนไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ และเงินปันผลที่ได้ยังต้องเสียภาษีด้วย แต่สำหรับคนที่ต้องการเงินปันผลเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กองทุนประเภทนี้ก็อาจตอบโจทย์ที่สุด

ประหยัดภาษี

ข้อนี้หลายคนคงได้ประสบด้วยตัวเองมาแล้ว กำไรในแบบที่สามคือเรื่องของการประหยัดภาษี (เฉพาะกองทุนประเภท LTF และ RMF) แม้จะไม่ได้เห็นกำไรที่เป็นรูปตัวเงินเท่าไหร่นัก แต่ภาษีที่เราประหยัดได้ก็นับได้รายรับของเราอีกทางหนึ่งเช่นกัน ลองคิดเล่นๆ ว่า สมมติปีนั้นราคาของ LTF หรือ RMF ที่เราถือไว้ร่วงลง 10% แต่เงินภาษีที่เราได้คืนนั้นสูงกว่ามูลค่ากองทุนที่ลดลงไป มองอีกมุมมันก็เป็นการลงทุนที่พอใช้ได้ (และจะดีกว่านี้ถ้าเราได้ภาษีคืนด้วย และราคากองทุนขยับขึ้นด้วย)

ถ้าถามว่าเราควรเน้นกำไรแบบไหนจึงจะดีที่สุด คำตอบอาจต้องขึ้นอยู่กับตัวนักลงทุนเอง อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า หากเราเน้นใช้จ่ายเงินด้วยเงินปันผล เราก็อาจเหมาะสมกับกองทุนที่จ่ายเงินปันผลมากกว่าไม่จ่าย แต่หากเราต้องการออมเงินยาวๆ แบบทิ้งลืม กองทุนรวม ประเภทไม่จ่ายเงินปันผล แล้วเน้นให้ราคากองทุนรวมสูงขึ้นไปก็จะมีความเหมาะสมมากกว่าครับ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : จัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรเมื่อตกงานจากวิกฤตโควิด-19

Related Posts