ทิสโก้

ทิสโก้ เปิด 4 ธีมการลงทุน รับประโยชน์โลกเปลี่ยนหลัง COVID-19 ระบาด

โดย SM1984

ทิสโก้ เปิด 4 ธีมลงทุนรับประโยชน์หลัง COVID-19 ระบาด ตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค แนะเน้นลงทุนในสหรัฐฯ จีน รวมถึงหุ้นกลุ่มหุ่นยนต์, ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ, เฮลธ์แคร์, อีคอมเมิร์ซ การศึกษาออนไลน์ และถือทองคำเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ 

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และพฤติกรรมของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่าหลังจากนี้จะมี 4 ธีม (Theme) การลงทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของ COVID-19 ดังนี้ 

1. ธีมความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากมาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไปทั่วโลก โดยภาคธุรกิจต้องสูญเสียรายได้มหาศาล ขณะที่ประชาชนหลายล้านคนกลายเป็นคนว่างงาน ภาครัฐจึงใช้กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงินไม่ให้ลุกลามไปจนเกิดวิกฤติ

รวมถึงช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ แก่ประชาชนที่ว่างงานและขาดรายได้ ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ และป้องกันปัญหาสังคมในระยะยาว ดังนั้น ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าประเทศใดจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤติครั้งนี้ 

โดยประเทศที่มีความได้เปรียบและความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบจากการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีสถานะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และหากเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน เช่น ญี่ปุ่นและยุโรปแล้ว พบว่าสหรัฐฯ ยังมีระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ และขนาดของงบดุลของธนาคารกลางเมื่อเทียบกับ GDP ยังต่ำกว่าประเทศอื่น จึงมีความยืดหยุ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในด้านการเงินและการคลัง ส่วนจีนยังมีหนี้สาธารณะต่ำ และไม่ได้พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากนอกประเทศ ขณะที่นโยบายการเงินค่อนข้างเข้มงวด จึงทำให้จีนมีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก

แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มละตินอเมริกา เพราะมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาตกต่ำทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดในการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 

2. ธีม Deglobalization หรือการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองที่มาจากกระแสการเรียกร้องของประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่พอใจกับการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชนชั้นแรงงาน ในขณะที่เจ้าของกิจการและนักลงทุนกลับได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ถูกลงอย่างเต็มที่ ซึ่งกระแสดังกล่าวเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่ประชามติ Brexit ในปี 2559 และ 2561 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มสงครามการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าหลายระลอก ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม

การระบาดของ COVID-19 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความเสี่ยงของการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบที่ต้องนำเข้าจากหลายประเทศ และเป็นการเร่งกระแส Deglobalization ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากทั้งความพยามของภาคธุรกิจที่ต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิต และภาครัฐที่มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและการปกป้องธุรกิจในประเทศที่เข้มข้นขึ้น

“หุ้นที่จะได้ประโยชน์จากธีมนี้ ได้แก่ กลุ่มหุ่นยนต์ (Robotic) และ ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation)  เนื่องจากการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ จะส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้ฐานการผลิตอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น โดยจะใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนในประเทศพัฒนาแล้วที่มีค่าแรงสูง ขณะที่กลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลักแต่มีขนาดในประเทศขนาดเล็กอาจเสียประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต เช่น ไทย มาเลเซีย เป็นต้น” นายคมศร กล่าว

3. ธีมเสถียรภาพทางการเงิน จากการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 เช่น การแจกเงินกับผู้ว่างงาน การเรียกร้องสวัสดิการจากภาครัฐเพิ่มขึ้นของภาคประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ เมื่อใช้ร่วมกับนโยบายการเงินผ่อนคลาย เช่น การลดดอกเบี้ยต่ำ และอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางจำนวนมหาศาล อาจหนุนให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต 

“หากเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นสูงในขณะที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ จะทำให้ภาครัฐต้องถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลา เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ ‘เศรษฐกิจชะงักงัน’ (Stagflation) คือมีอัตราการว่างงานสูงและเงินเฟ้อสูง ในกรณีนี้แนะนำให้ถือทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชดเชยเงินเฟ้อได้ดี เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพราะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต”นายคมศรกล่าว 

4. ธีมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม COVID-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในวงกว้าง เช่น การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และการทำงานและเรียนนอกสถานที่ โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่กลุ่ม เฮลธ์แคร์ (Health Care), อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) และการศึกษาออนไลน์ (Edutainment) เป็นต้น

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ชี้เป้าลงทุนในหุ้นผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานยอดขายในไตรมาส 1 ปี 2563 รวม 2.68 ล้านล้านบาท ลดลง 4.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 98,524 ล้านบาท ลดลง 60.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยหมวดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสงครามราคาน้ำมัน ได้แก่ หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งหากไม่รวม 2 หมวดดังกล่าว จะมีกำไรสุทธิลดลงเพียง 25.2%

ด้านผลการดำเนินงานของหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มียอดขายรวม 42,132 ล้านบาท ลดลง 1.56% มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 1,455 ล้านบาท ลดลง 27.5% และมีกำไรสุทธิ 717 ล้านบาท ลดลง 58.58 % จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

Related Posts