ราคาน้ำมันดิบ

เรามาถึงยุคที่ต้องซื้อน้ำมันแถมเงินให้ด้วยแล้วได้อย่างไร??

โดย SM1984

เมื่อคืนที่ผ่านมา (20 เมษายน 2563) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงกว่า 300% ภายในวันเดียว ลงไปติดลบมากที่สุด 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นการลดลงของราคาน้ำมันที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการซื้อขายน้ำมันกันเลยทีเดียว

ราคาดังกล่าวเป็นสัญญา Futures ที่ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ซึ่งวันนี้ (21 เมษายน) จะเป็นวันสุดท้ายของการชำระราคาและปิดสัญญา ขณะที่สัญญา WTI Futures เดือนมิถุนายน ปิดที่ราคา 20.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 4.6 ดอลลาร์หรือ -18.4%

สาเหตุที่ ราคาน้ำมันดิบ ถูกเทขายอย่างหนักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนกลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดคือติดลบมากกว่า 70% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางคมนาคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ส่งผลต่อดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง 

ประกอบกับสงคราม ราคาน้ำมันดิบ ที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับซาอุดิอาระเบียยิ่งกดราคาให้ดิ่งหนักลงไปอีก แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยเกินไป และยังไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบของความต้องการน้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

ราคาน้ำมัน

ทำความเข้าใจตลาดซื้อขายน้ำมันโลก

น้ำมันที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบันจะอยู่ในรูปแบบสัญญาล่วงหน้า (Futures) เนื่องจากน้ำมันต้องอาศัยระยะเวลาในการขนส่งจึงไม่สามารถส่งมอบกันได้ทันทีหรือซื้อขายแบบ Spot เหมือนสินทรัพย์อื่นๆ

สัญญาซื้อขายน้ำมันจะแบ่งเป็นสองตลาดคือ Brent ซึ่งผลิตขึ้นจากทะเลเหนือฝั่งทวีปยุโรป ซึ่งมีบทบาททางด้านราคาถึง 2 ใน 3 ของราคาน้ำมันที่ซื้อขายทั่วโลก แม้แต่โอเปกก็ยังอ้างอิงราคากับน้ำมันดิบ Brent 

การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ Brent จึงสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยทำการซื้อขายในตลาด Intercontinental Exchange หรือ ICE

ขณะที่ WTI หรือน้ำมันดิบ West Texas จะมีแหล่งผลิตหลักอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาซื้อขายจึงอ้างอิงกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นหลัก จะซื้อขายในตลาดที่เรียกว่า NYMEX ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ CME Group (Chicago Mercantile Exchange) ซึ่งเป็นตลาดอนุพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทำไมราคาน้ำมัน WTI ถึงติดลบ?

ปกติแล้วสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI จะต้องส่งมอบน้ำมันจริงๆให้ตามสัญญารายเดือน ต่างจาก Brent ที่ส่งมอบเงินกันให้ได้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบน้ำมันดิบจริง 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวอย่างหนักจากมาตรการ Lockdown ขณะที่การผลิตน้ำมันจาก Shale Oil ยังคงเดินหน้า เนื่องจากแท่นขุดน้ำมันไม่สามารถที่จะสั่งปิดได้ทันทีเหมือนก๊อกน้ำ

เมื่อผลิตออกมาแล้วแต่ไม่เกิดความต้องการน้ำมันเพราะเครื่องบินก็หยุดบิน การคมนาคมส่วนใหญ่ถูกปิด ทำให้สต๊อกน้ำมันในสหรัฐฯเริ่มที่จะ “ล้น” ไม่มีที่เก็บ สต็อกน้ำมันสหรัฐพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานระบุว่า วิกฤตการณ์จากแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง 29 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี ขณะที่ประเทศต่างๆพากันออกมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

ในเมื่อการผลิตไม่สามารถหยุดได้ แต่ไม่มีความต้องการใช้น้ำมัน แถมที่เก็บเริ่มที่จะเต็มแล้ว ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่ ราคาน้ำมัน WTI ออกมาติดลบเมื่อคืนที่ผ่านมา 

หมายความว่าใครที่ซื้อราคาน้ำมันในราคาติดลบไปจะได้ “แถมเงิน” ติดมือไปด้วย!! แต่ต้องไปรับปิดชอบหาที่เก็บสต๊อกเอาเอง

สาเหตุที่สัญญาส่งมอบน้ำมัน WTI เดือนพฤษภาคมแตกต่างจากราคาส่งมอบเดือนมิถุนายน ก็เพราะสัญญาเดือนพฤษภาคมจะสิ้นสุดลงในวันอังคารที่ 21 เมษายน นี้แล้ว ผู้เสนอขายต้องการที่จะเร่งระบายน้ำมันออกไปให้เร็วที่สุด ส่วนใครที่สามารถรอส่งมอบเดือนมิถุนายนได้ไม่จำเป็นต้องเร่งขาย ทำให้ราคาไม่ได้ดิ่งแรงเหมือนเดือนพฤษภาคมที่ใกล้เส้นตายมากกว่า แต่ก็ถือว่าลดลงหนักเช่นกัน

ราคาน้ำมัน

สหรัฐฯอาจจะต้องเทน้ำมันทิ้งเพราะสต๊อกน้ำมันล้นจนจะไม่มีที่เก็บ!!

ตามกลไกราคา หากฝั่งซัพพลายออกมามากกว่าความต้องการหรือดีมานด์ ราคาตลาดของสิ่งเหล่านั้นก็มีโอกาสปรับตัวลดลง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อ ราคาน้ำมันทั่วโลกก็มีโอกาสอยู่ในระดับต่ำไปอีกพักใหญ่ 

แต่ความเสี่ยงที่จะตามมาหลังจากนั้นคือบริษัทด้านพลังงานโดยเฉพาะในสหรัฐฯที่มีต้นทุนผลิตน้ำมัน Shale Oil ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะ “เข้าเนื้อ” ไปทุกนาทีที่ผลิตน้ำมันออกมา ซึ่งอาจจะเกิดการ Default และส่งผลต่อตลาดหุ้นที่อาจจะเข้าขั้นโกลาหลอีกครั้ง

สำหรับผู้ใช้น้ำมันในประเทศไทย คงไม่ถึงกับเติมน้ำมันแถมเงิน เพราะราคาขายในบ้านเรามีกลไกซับซ้อนต้องอ้างอิงกับตลาดซื้อขายในประเทศสิงคโปร์รวมถึงต้องคำนวนอัตราแลกเปลี่ยน 

อย่างไรก็ตามเราคงได้ใช้น้ำมันราคาถูกไปอีกพักใหญ่ แต่ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก จากเศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตติดลบ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ ซึ่งสวนทางการคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3% ในปีนี้

IMF ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 5.9% ในปีนี้ แต่จีนจะมีการขยายตัว 1.2% นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 7.5% ในปีนี้ ขณะที่อิตาลีและสเปน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 จะหดตัวลง 9.1% และ 8% ตามลำดับ

ราคาน้ำมันดิบ ที่ถูกอาจทำให้ไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดแทน ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อเสียอีก!!

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : เบื้องลึก “ซาอุดิอาระเบีย” หวังคุมเกมส์ราคาน้ำมันโลก

Related Posts