ประกันสุขภาพ

ทิสโก้เวลธ์เปิดทริกเลือกประกันสุขภาพสูงวัย เตือนค่ารักษาเพิ่ม 2 เท่าทุก 8-10 ปี

โดย SM1984

ทิสโก้เวลธ์เปิดทริกเลือก ประกันสุขภาพ เน้นแบบการันตีการต่ออายุเทียบเท่าอายุขัยเฉลี่ยคนไทยที่ 80 ปี วงเงินแบบเหมาจ่าย และค่าเบี้ยไม่เกิน 10-15% ของรายได้ต่อปี เตือนค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่ม 2 เท่าทุกๆ 8-10 ปี 

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้คนไทยตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการให้ความสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกัน COVID-19 ที่มีเข้ามาอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการซื้อประกันให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีอัตราเสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเสี่ยงเรื่อง COVID -19 ในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ทิสโก้เวลธ์อยากกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการมี ประกันสุขภาพ เพื่อปกป้องความเสี่ยงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากโรคอื่นๆ ด้วย โดยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 พบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 8-10 ปี อีกทั้งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพหลังเกษียณ

“ถ้าปัจจุบันอายุ 60 ปีอีก 20 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้นถึง 4 เท่าของค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีการโอนความเสี่ยงไปที่บริษัทประกันภัย นั่นจะถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเกือบ 25% ของผู้สูงอายุไม่มีการออมเงิน ดังนั้น การทำประกันสุขภาพให้กับผู้สูงอายุจึงเป็นลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้” นายณัฐกฤติกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประกันสุขภาพหลากหลายรูปแบบที่มาตอบโจทย์ความต้องการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่จะคัดเลือกประกันสุขภาพที่คุ้มค่าตรงกับความต้องการอย่างไรนั้น ทิสโก้เวลธ์มีข้อแนะนำเบื้องต้นควรพิจารณาโดยเน้นที่การใช้บริการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ดังนี้

ประกันชีวิต

1. ช่วงอายุในการรับประกัน กล่าวคือ บริษัทประกันจะกำหนดช่วงอายุในการรับประกันที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ผู้เอาประกันภัยต้องมีอายุระหว่าง 15 วัน ถึง 65 ปี ดังนั้น ควรทำประกันสุขภาพก่อนอายุ 65 ปี เนื่องจากหากเลยอายุที่บริษัทประกันกำหนดไว้แล้วอาจจะไม่สามารถทำประกันสุขภาพนั้นได้

  1. อายุสูงสุดที่บริษัทจะต่ออายุกรมธรรม์ โดยทั่วไปแล้วอายุมากขึ้น โอกาสที่จะต้องใช้เงินในการรักษาโรคจะมากขึ้น จึงควรเลือกแบบประกันที่สามารถต่ออายุเทียบเท่ากับอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยหรือประมาณ 80 ปีเป็นอย่างน้อยและควรมีการันตีการต่ออายุ
  2. วงเงินความคุ้มครองค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรงซึ่งสามารถคุ้มครองการรักษาจากเชื้อไวรัส COVID  -19 ด้วย โดยอาจพิจารณาประกันแบบเหมาจ่ายที่มีความคุ้มครองเบื้องต้นประมาณ500,000 – 1 ล้านบาทขึ้นไป และมีผลประโยชน์ความคุ้มครองค่าห้อง ค่าอาหารและค่าบริการพยาบาลต่อวันประมาณ 4,000-6,000 บาทขึ้นไป เพราะจะสามารถครอบคลุมค่าห้องพักเดี่ยวระดับมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปได้ และ 4. ค่าเบี้ยประกันที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป ซึ่งค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพทั้งหมดที่ต้องจ่าย (ของตัวเองและผู้สูงอายุที่ต้องจ่ายให้) ควรอยู่ประมาณ 10-15% ของรายได้ต่อปี

อย่างไรก็ตาม การทำประกันสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเบี้ยประกันที่ซื้อให้กับบิดามารดาไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

โดยค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาที่บุตรซื้อให้สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งบิดามารดาต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป และต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วัน ในปีภาษีนั้นๆ

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : 5 ความจริงของนโยบายพักต้นพักดอกและ How To Survive

Related Posts