พักต้นพักดอก

5 ความจริงของนโยบายพักต้นพักดอกและ How To Survive

โดย SM1984

วิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วย่อมหญ้า โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว หลายธุรกิจต้องให้พนักงาน Leave Without Pay หรือถึงกับเลย์ออฟ ทำให้ธนาคารต้องออกนโยบาย พักต้นพักดอก ให้กับลูกหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระ 

นโยบายช่วยเหลือผู้กู้ที่เป็นรายย่อยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดันออกมาให้เป็นแนวทางสำหรับธนาคารพาณิชย์จนกระทั่งแต่ละธนาคารได้ออกแคมเปญออกมาในแนวทางใกล้เคียงกัน เช่น 

บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลลดการจ่ายขั้นต่ำต่อเดือนลงจากเดิม 10% เหลือ 5%  มีผลทันทีไม่จำเป็นต้องยืนเรื่อง นอกจากนี้ยังมีการแปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวให้ผ่อนต่องวดน้อยลง

สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ มีตั้งแต่การลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลา ลดค่างวด พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 

ล่าสุด ธนาคารพาณิชยืต่างพากันออกนโยบายหยุดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยและยืดระยะเวลาออกเป็น 6 เดือนรวมถึงลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.40% เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้กู้

แต่แท้จริงแล้วนโยบาย พักต้นพักดอก ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของลูกหนี้ในภาวะแบบนี้หรือไม่?? และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากเข้าโครงการดังกล่าว เราไปดู 5 ความจริงของนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ที่ออกมา และเราควรจะเข้าโครงการหรือไม่??

1.เข้าโครงการแล้วจะติดเครดิตบูโรหรือไม่

ชัดๆคือ ไม่ติดเครดิตบูโร ทั้งนี้ธนาคารจะเปิดให้ลูกหนี้เข้าโครงการนี้ได้เฉพาะผู้ที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดีเท่านั้นและไม่ติด Back List ในเครดิตบูโรมาก่อน และแต่ละธนาคารออกมาประกาศชัดว่าโครงการพักต้นพักดอกที่เปิดออกมาในช่วงนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับประวัติเครดิตแต่อย่างไร

2.เลือกหยุดผ่อนได้ทั้งเงินต้นหรือดอกเบี้ยหรือทั้งสองอย่าง

ปกติแล้วการผ่อนชำระเงินกู้ไม่ว่าจะบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน ฯลฯ ผู้กู้จะต้องจ่ายต่อเดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยพร้อมกัน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารได้เปิดทางให้ผู้กู้ที่มีปัญหาสามแนวทางคือ เลือกที่จะหยุดผ่อนเงินต้น หยุดผ่อนดอกเบี้ยหรือจะหยุดผ่อนทั้งสอง

3.ความหมายที่แท้จริงของพักชำระหนี้

นโยบาย พักต้นพักดอก ที่ธนาคารพาณิชย์เปิดออกมา ทั้งหมดเป็นการ “พักชำระหนี้” ความหมายที่แท้จริงคือการ “หยุดจ่ายหนี้ชั่วคราว” ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหรือทั้งสองอย่าง แต่ “ดอกเบี้ยยังคงเดินต่อ” 

4.ยังไม่มีธนาคารไหนให้พักหนี้

อีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกันนั่นคือการ “พักหนี้” มีความหมายคือการที่ลูกหนี้ “หยุดจ่ายหนี้ชั่วคราว” ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหรือทั้งสองอย่าง แต่ ดอกเบี้ยหยุดเดิน เช่นหากเราเจรจากับธนาคารเพื่อที่จะพักหนี้ไว้ 6 เดือน ช่วงเวลาดังกล่าวธนาคารจะไม่มีการติดดอกเบี้ยเงินกู้แต่อย่างไร เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 7 ก็จะจ่ายดอกเบี้ยของเดือนนั้นอย่างเดียวไม่มีการคิดดอกเบี้ยย้อนหลัง 

5.หลังจากจบโครงการแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ พักต้นพักดอก ของแต่ละธนาคาร หลังจากจบโครงการแล้วและไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยในส่วนของหกเดือนที่ได้พักชำระหนี้ชั่วคราวเอาไว้

ณ เวลานี้ (13 เมษายน) มีเพียงแค่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เท่านั้นที่ประกาศยกดอกเบี้ยที่หยุดพักชำระให้กับลูกค้า พูดง่ายๆว่า 4 เดือนที่เข้าโครงการพักต้นพักดอก เมื่อจบโครงการไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยช่วง 4 เดือนดังกล่าว

พักต้นพักดอก

แนวทางจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีต่อการพักต้นพกดอก

เพื่อให้ประชาชนผู้กู้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการเข้าร่วมโครงการ พักต้นพักดอก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ให้แนวทางในการเข้าร่วมโครงการไว้ดังนี้

กรณีแรก ผ่อนชำระตามปกติ สมมติว่า หากคุณเป็นหนี้บ้าน 1,000,000 บาท และมีงวดชำระหนี้จากการกู้ซื้อบ้านเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งประกอบด้วย เงินต้น 4,000 บาท และดอกเบี้ย 6,000 บาท เรายังจ่ายชำระหนี้ตามปกติ เดือนละ 10,000 บาท เหมือนเดิม ก็จะช่วยลดเงินต้น ผ่านไป 6 เดือน ยอดหนี้ก็จะเหลือแค่ 976,000 บาท

กรณีที่สอง พักชำระเงินต้น คือ สถาบันการเงินผ่อนปรนให้เรายังไม่ต้องชำระคืนเงินต้นตามเวลาที่กำหนดไว้ จากตัวอย่างเดิม สมมติเราเลือกพักชำระเงินต้น 6 เดือน จากปรกติจ่ายเดือนละ 10,000 บาท จะเหลือจ่ายแค่ดอกเบี้ยเดือนละ 6,000 บาท และเนื่องจากเราจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน ทำให้ยอดหนี้ไม่เพิ่มขึ้น ยังมีหนี้เหลือ 1,000,000 บาทเท่าเดิม

ข้อดีของวิธีนี้ คือ แม้ว่าคุณไม่สามารถจ่ายค่างวดได้ครบในช่วง 6 เดือนนี้ ธนาคารจะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ ประวัติการผ่อนจ่ายชำระหนี้จะไม่เสีย และในช่วง 6 เดือนที่อาจจะยังมีความไม่แน่นอนว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จะจบลงเมื่อใด คุณจะมีเงินเหลือ 4,000 บาทเพิ่มเติมในแต่ละเดือน จากที่ยังไม่ต้องชำระคืนธนาคาร ไว้ใช้สำหรับดำรงชีพเพิ่มเติม 

กรณีที่สาม พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย คือ ไม่ต้องจ่ายทั้งส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ธนาคารในช่วงที่ผ่อนปรน จากตัวอย่างเดิม จากที่คุณต้องจ่าย 10,000 บาท ก็ไม่ต้องจ่ายธนาคารเลย เพราะธนาคารผ่อนปรนให้คุณ “ยังไม่ต้องชำระคืนค่างวด” ทั้งส่วนที่ชำระคืนเงินต้นและส่วนของดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยเดือนละ 6,000 บาท ที่ไม่ได้จ่ายตลอด 6 เดือน ยังคงเดินอยู่ และไปเพิ่มยอดหนี้รวมเป็น 1,036,000 บาท

ข้อดีของวิธีนี้ คือ แม้คุณจะไม่สามารถจ่ายค่างวดได้เลย ธนาคารก็จะไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และประวัติการผ่อนชำระของคุณในฐานข้อมูลเครดิตบูโรจะไม่เสีย นอกจากนี้ ข้อดีอีกประการ คือ ในช่วง 6 เดือนนี้ที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน ไม่รู้ว่ารายได้จะดีเหมือนเดิมหรือไม่ ทุกเดือนคุณจะมีเงินสดที่เหลือจากการไม่ต้องชำระค่างวด 10,000 บาท ไว้เป็นสภาพคล่องใช้สำหรับดำรงชีพ

พักต้นพักดอก

แล้วเราควรจะเข้าโครงการพักต้นพักดอกหรือไม่?? 

ขอแบ่งเป็นสองกรณีเพราะผลที่ได้รับในอนาคตจะต่างกัน

กรณีแรก..หากยังผ่อนชำระในอัตราเดิมไหวยังมีรายได้เท่าเดิมหรือลดลงเล็กน้อยหรือพอมีเงินเก็บกรณีนี้ขอให้ผ่อนชำระในอัตราเดิมไปก่อน เพราะจากการคำนวนชัดเจนแล้วว่าการพักชำระหนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและเมื่อสิ้นสุดโครงการจะทำให้ภาระหนี้ที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้น บางธนาคารอาจลดดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้ที่ยังผ่อนในอัตราปกติอีกด้วย 

กรณีที่สองหากรายได้ขาดแบบกระทันหันและไม่มีเงินเก็บกรณีนี้หากจำเป็นก็สามารถเข้าร่วมโครงการพักต้นพักดอกได้ เพราะไม่ได้ทำให้เครดิตเสีย และการผิดนักชำระหนี้อาจส่งผลเสียมากกว่า

ในภาวะที่เกิดวิกฤต ทางเลือกแรกของการจัดการการเงินคือทำตัวให้ “เบา” ที่สุดด้วยการปลอดหนี้ และอย่าคิดง่ายๆเพียงเพราะธนาคารมีโครงการพักต้นพักดอกให้ก็เลยใช้ไปก่อน เพราะอย่าลืมว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจบโครงการ เรายังต้องอยู่กับมันต่อไป

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ธอส “ไม่คิดดอกเบี้ย” ช่วงพักชำระหนี้ 4 เดือน

Related Posts