ประกันชีวิต

ทำความรู้จักประกันชีวิตรูปแบบต่างๆ เพื่อลดหย่อนภาษี-ประกันสุขภาพ

โดย SM1984

การซื้อ ประกันชีวิต  ถือเป็นอีกเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่สามารถบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพและชีวิตในระยะยาว และยังสามารถนำเบี้ยประกัน มาหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้คนไทยทำประกันชีวิตเพื่อความมั่นคงในอนาคต

ปัจจุบันแบบประกันที่สามารถหักลดหย่อนภาษีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่

1.ประกันชีวิตแบบปกติทั่วไป จะถือเป็นสัญญาหลักของผู้เอาประกัน  ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) จะมีระยะเวลาจ่ายเบี้ยค่อนข้างยาว เพราะให้ความคุ้มครองถึงอายุ 90/99 ปี ขึ้นกับรายละเอียดในเงื่อนไขกรมธรรม์นั้นๆ  ขณะที่ค่าเบี้ยจะไม่เพิ่มตามอายุ  รวมทั้งจะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ โดยถือเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความมั่นคงแก่คนในครอบครัวหรือผู้รับผลประโยชน์ได้รับเงินก้อนหากผู้เอาประกันเสียชีวิต 

ประกันแบบชั่วระยะเวลา (Term) จะเน้นความคุ้มครองระยะสั้น ข้อดีค่าเบี้ยต่ำมาก แต่จะเป็นการจ่าย”ทิ้ง”ในแต่ละปี ดังนั้นไม่สามารถเวรคืน หรือมีมูลค่าเงินสดไดิ ด้งนั้นแบบประกันนี้จะเหมาะคนมีงบประมาณจำกัด

-ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endownment) สามารถเลือกแบบได้ตั้งแต่ชำระเบี้ย 3 -5 ปี แต่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับผลตอบแทนตามกำหนดของเงื่อนไขกรมธรรม์นั้นๆ ซึ่งประกันแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการออมเงินควบคู่กับการได้รับความคุ้มครอง

2.ประกันสุขภาพ ทุกวันนี้บริษัทประกันต่างหันมานำเสนอตัวเลือกอย่างมากมาย จะเป็นสัญญาเพิ่มเติมด้านประกันสุขภาพให้เลือกซื้อ เพื่อตอบโจทย์ค่ารักษาเจ็บป่วยจนถึงนอนในโรงพยาบาล  โรคร้ายแรงต่างๆที่เป็นกันเพิ่มมากขึ้นทำให้มีความต้องการซื้อความคุ้มครองด้านประกันสุขภาพมากขึ้น  แม้ว่าทุกวันนี้ มนุษย์เงินเดือนจะมีสวัสดิการของที่ทำงานอยู่ แต่บางครั้งอาจไม่เพียงพอ 

3 ประกันบำนาญ เป็นการออมเงินระยะยาวเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ ดังนั้น จะได้รับเงินคืนทุกปีในช่วงเวลาที่นับตั้งแต่อายุครบ 55 ปีขึ้นไป จนถึงระยะเวลาปี ที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในกรมธรรม์นั้นๆ ตัวนี้ถือเป็นการสร้างบำนาญ ซึ่งผู้ซื้อจจะได้รับเงินใช้ในแต่ละเดือนนับตั้งแต่วันเกษียณอายุ  ซึ่งคุณก็สามารถสร้างเงินบำนาญของตัวเองได้ไม่แพ้ข้าราชการ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพียงเงินประกันสังคม หรือเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เงินสวัสดิการผู้สูงอายุ 60 ปี ที่ได้รับตั้งแต่ 600 บาทขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอใช้

4 แบบประกันควบการลงทุน (Unit-Linked) ซึ่งจะแบ่งค่าเบี้ยส่วนหนึ่งลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งสามารถจัดพอร์ตและเลือกลงทุนในกองทุนรวม และเบี้ยอีกส่วนหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันคุ้มครองชีวิต สิ่งที่ได้จะเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนกองทุนรวมควบคู่กับป้องกันความเสี่ยง แต่แบบประกันนี้จะมีความเสี่ยงสูงในการบริหารผลตอบแทน ซึ่งจะต่างกับแบบประกันข้างต้น ดังนั้นผู้ที่จะซื้อประกันแบบนี้ จึงต้องมีความรู้การลงทุนด้วย

ประกันชีวิต

สำหรับเบี้ยประกันที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีมีดังนี้

1.  เบี้ยประกันชีวิตแบบปกติ  สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท โดยจะเป็นเบี้ย”ประกันสุขภาพ”นำมาหักลดหย่อนฯได้ไม่เกิน 15,000 บาท

2.  เบี้ยประกันบำนาญ สามารถนำหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด15%ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเม็ดเงินที่ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ(กบข.) ด้วยกันแล้วจะต้องไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท

ปัจจุบันมีแบบประกันให้เลือกซื้อมากมายและหลากหลาย จนคนซื้อก็เลือกไม่ถูก ดังนั้น มาดูแนวทางการเลือกซื้อประกันกันบ้าง

1 สำรวจความต้องการและเป้าหมายของของตัวคุณเองว่า   อยากได้แบบประกันประเภทไหน

2 คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเบี้ย ซึ่งจะสัมพันธ์กับทุนประกัน และผลตอบแทนที่จะได้รับ

3 ได้มีการวางแผนทางการเงินสำหรับการจ่ายเบี้ยที่ดีหรือยัง

4 สามารถปรึกษาตัวแทนประกันชีวิต นักวางแผนการเงินของบริษัทประกัน โบรกเกอร์ประกัน  ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการเลือกประกันที่เหมาะสมกับตัวเอง ว่า จะเลือกซื้อประกันนั้นๆด้วยเหตุผลอะไร ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

รวมทั้งต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละแบบประกันที่ต้องการซื้อและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อด้วย ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ จะช่วยให้คุณสามารถบริหารเงินและได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่า

      สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากของคนที่ซื้อประกันและนำมาหักลดหย่อนภาษี คือหากมีการยกเลิกหรือเวรคืนกรมธรรม์ประกันจะต้องถูกกรมสรรพากรเรียกคืนภาษีทั้งหมด บวก”ดอกเบี้ย 1.5%” ตามระยะเวลาที่ใช้สิทธิลดหย่อนทันที

3 ส่วนสำคัญที่ผู้ซื้อประกันต้องรับรู้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

1.ส่วนสรุปกรมธรรม์อยู่หน้าแรก ดูชื่อแบบ ,ประเภท, บริษัทประกันที่ทำ ,อายุตอนที่เริ่มทำประกัน,วันที่เริ่มทำ,วันสิ้นสุดสัญญา ,งวดการจ่ายเบี้ย (รายเดือน/รายปี) ระยะเวลาจ่ายเบี้ย ,ระยะเวลาสัญญาความคุ้มครอง ,ทุนประกันชีวิต (จำนวนเงินเอาประกันชีวิต),เบี้ยประกันชีวิตต่อปี,สัญญาเพิ่มเติมที่คุ้มครองสุขภาพ,เบี้ยประกันของสัญญาเพิ่มเติม ,ระยะเวลาที่จ่ายของสัญญาแต่ละตัว

2.ส่วนผลประโยชน์แบบประกันอยู่ถัดไป  ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากประกันชีวิต ทั้ง ”กรณีที่มีชีวิตอยู่” เช่นจะมีเงินคืนเมื่อสิ้นปีกรมธรรม์อยู่ที่เท่าไหร่ คิดเป็นร้อยละของทุนประกัน เมื่อครบสัญญาจะได้อีกร้อยละเท่าไร

“กรณีเสียชีวิต” เกิดขึ้นปีไหน จะมีความคุ้มครองชีวิตคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของทุนประกัน

3 ส่วนตารางมูลค่าเงินสดอยู่หน้าท้ายๆของกรมธรรม์ แสดงมูลค่าการใช้สิทธิ์บริหารกรมธรรม์ คือ สิทธิ์เวนคืนมูลค่าเงินสด ,สิทธิ์แปลงกรมธรม์เป็นกรมธรรม์เงินสำเร็จ และสิทธิ์ขยายเวลาความคุ้มครองเมื่อหยุดจ่ายเบี้ย ในสิ้นปีกรมธรรม์ทุกปี

ประกันชีวิต

 แนวโน้มประกันชีวิตเติบโตสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางโอกาสการเติบโตที่จำกัดของผลิตภัณฑ์ประกันสัญญาหลัก เนื่องจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่อ่อนตัวลง  จึงทำให้บริษัทประกัน เปลี่ยนจุดขายไปที่ตลาดประกันสุขภาพมากขึ้น เพราะตลาดนี้ยังสามารถเติบโตสูง

บริษัท ประกันชีวิต ส่วนใหญ่มีการปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองและราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อเป็นจุดขายให้ผู้ซื้อยอมทำประกันฉบับใหม่เพิ่ม ซึ่งจะเห็น 2 ด้านที่ปรับปรุง คือ

1.ด้านการขยายช่วงอายุที่ซื้อความคุ้มครองได้ จากเดิมที่จำกัดอายุไม่เกิน 60 ปี เพิ่มเป็น 70-80ปี  ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ของไทย  แนวโน้มคนอายุยืนขึ้น แต่มีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น  ส่วนการที่มีสวัสดิการและการซื้อประกันเดิม เริ่มไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้แล้ว 

2 ด้านการเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบความคุ้มครองเพื่อให้เบี้ยประกันอยู่นะรัดบที่เหมาะสมตามกำลังซื้อของลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ สัญญาประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มที่มีสวัสดิการอื่นรองรับ โดยมีเงื่อนไขให้ลูกค้าร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลส่วนแรก 

รวมถึงใช้สิทธิเบิกทางอื่นก่อน เช่น สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันกลุ่มของบริษัทเอกชน ส่วนที่เหลือสามารถเบิกได้ตามวงเงินที่เอาประกัน , สัญญาประกันสุขภาพในลักษณะเหมาจ่ายต่อการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม  บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะกำหนดเงื่อนไขการขายพ่วงว่า ผู้จะซื้อสัญญาประกันสุขภาพได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการซื้อกรมธรรม์หลักใหม่ของบริษัทประกันนั้นๆ ด้วย

ขณะที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะมีความกังวลต่อค่ารักษาในโรงพยาบาลค่อนข้างสูง ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2561) เพิ่มขึ้นถึง 67.66% แบ่งเป็นค่ายาเพิ่มขึ้น  108.66% และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 43.27% 

ค่ารักษาพยาบาลก้อนโตขนาดนี้ มีผลต่อฐานะการเงินสั่นคลอนได้สำหรับคนชนชั้นกลาง การซื้อ ประกันชีวิต จึงเป็นเสมือนการโอนย้ายความเสี่ยงออกไปผ่านการทำประกันสุขภาพ

      การทำ ประกันชีวิต ถือเป็นการสร้างวินัยการออมที่ดี และเป็นการกระจายความเสี่ยงของชีวิตที่ดี ดังนั้น สำหรับคนที่เริ่มทำงานหรือคนที่มีงบน้อย ก็สามารถเริ่มจากการซื้อแบบประกันที่เหมาะสม และหากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถซื้อเพิ่มความคุ้มครองจากแบบประกันเดิม  หรือซื้อแบบประกันฉบับใหม่ ก็สามารถจัดพอร์ตได้

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : อายุเท่านี้ ทำประกันชีวิตแบบไหนดี จึงจะเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

Related Posts